แม็กกาซีนพระ บทความและสาระความรู้

สักการะพระธาตุประจำปีระกา ที่ วัดพระธาตุหริภุญชัย จ. ลำพูน
21 เมษายน 2563    1,228

วัดพระธาตุหริภุญชัย เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร ศิลปกรรมล้านนา สกุลช่างเมืองลำพูนนี้มีทั้งที่เป็นแบบนี้ปรากฎอิทธิพลลพบุรี (ละโว้) และที่มีอิทธิพลเมืองใหม่ ซึ่งวัดพระธาตุหริกุญชัย จะมีลักษณะทางสถาปัตยกรรมในแบบหลัง ซึ่งจะมีลักษณะที่งดงามและลงตัว และยังเป็นองค์พระธาตุประจำปีเกิดของคนเกิดปีระกา (ปีไก่) ตามความเชื่อดั้งเดิมของชาวล้านนา



วัดพระธาตุหริภุญชัย  ตั้งอยู่ในเมืองลำพูน มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 28 ไร่ 3 งาน 26 ตารางวา มีถนนล้อมรอบสี่ด้าน สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1651  และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ เมื่อปี พ.ศ. 2478


ด้านหน้าวัด มี ซุ้มประตูก่ออิฐถือปูนประดับลวดลายวิจิตรสมัยศรีวิชัย ประกอบด้วยซุ้มยอดเป็น ชั้น ๆ เบื้องหน้าซุ้มประตูมี สิงห์คู่ประดับเครื่องทรง อ้าปาก ยืนเป็นสง่าบนแท่นสูง ประมาณ 1 เมตร สิงห์คู่นี้ปั้นขึ้นในสมัยพระเจ้าอาทิตยราชเมื่อทรงถวายวังให้เป็นสังฆารามวิหารหลวง


สิงห์คู่ประดับเครื่องทรง


องค์พระบรมธาตุหริภุญไชย ภายในบรรจุพระเกศบรมธาตุ บรรจุในโกศทองคำ ประดิษฐานในพระเจดีย์ ประกอบด้วยฐานปัทม์ แบบฐานบัวลูกแก้ว ย่อเก็จ ต่อจากฐานบัวลูกแก้วเป็นฐานเขียงกลมสามชั้น ตั้งรับองค์ระฆังกลม บัลลังก์ย่อเหลี่ยม สูง 25 วา 2 ศอก ฐานกว้าง 12 วา 2 ศอก 1 คืบ มีสัตติ- บัญชร (รั้วเหล็กและทองเหลือง) 2 ชั้น สำเภาทอง ประดิษฐานอยู่ประจำรั้วชั้นนอกทั้งทิศเหนือ และทิศใต้ มีซุ้มกุมภัณฑ์ ฉัตรประจำสี่มุม และหอคอยประจำทุกด้านรวม 4 หอ บรรจุพระพุทธรูป นั่งทุกหอ นอกจากนี้ยังมีโคมประทีป และแท่นบูชาก่อประจำไว้เพื่อเป็นที่สักการะบูชาของพุทธศาสนิกชนทั่วไป



องค์พระบรมธาตุหริภุญไชย


ตามประวัติ วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร เดิมทีเป็นพระราชวังของ พระเจ้าอทิตยราชกษัตริย์ ผู้ครองนครหริภุญชัย องค์ที่ 33 ต่อจาก พระนางจามเทวี ปฐมบรมกษัตริย์ของเมืองหริภุญชัย บริเวณกำแพงพระราชวังของพระเจ้าอาทิตยราชได้แบ่งออกเป็น 2 ชั้น คือ ชั้นนอกและชั้นใน 

ในกาลต่อมาภายหลังพระเจ้าอาทิตยราช ได้ถวายราชวังของพระองค์ให้เป็นสังฆารามไว้กับทางพระพุทธศาสนา เมื่อถวายเป็นสังฆารามแล้ว ได้รื้อกำแพงชั้นนอกออกแล้วปั้นสิงห์คู่หนึ่งไว้ที่ซุ้มประตูด้านทิศตะวันออก เป็นสิงห์ขนาดใหญ่ประดับเครื่องทรงยืนอ้าปากประดิษฐานไว้แทน ตามคติโบราณทางเหนือซึ่งนิยมสร้างสิงห์เฝ้าวัด
 
วัดพระธาตุหริภุญชัย มีกำแพงสองชั้นตามรูปลักษณ์ของพระราชวังเดิมของพระเจ้าอาทิตยราช คือ รอบบริเวณวัดชั้นนอกชั้นหนึ่ง และก่อกำแพงเป็นศาลาบาตรรอบองค์พระธาตุหริภุญชัยเป็นกำแพงชั้นในอีกชั้นหนึ่ง

นอกจากวิหารหลวง และองค์พระธาตุหริภุญชัย ภายในเขตพุทธาวาสวัดพระธาตุหริภุญชัย ยังมีสิ่งน่าสนใจเด่นๆ ได้แก่ 


หอธรรม มี 2 ชั้น ชั้นล่างเป็นอาคารปูน ชั้นบนเป็นสถาปัตยกรรมเครื่องไม้ ประดับด้วยลวดลายฉลุไม้ลงรักปิดทองล่องชาดอย่างสวยงาม


หอธรรม

ปทุมวดีเจดีย์หรือสุวรรณเจดีย์ เป็นเจดีย์ทรงสี่เหลี่ยมเช่นเดียวกับเจดีย์เหลี่ยม หรือกู่กุดวัดจามเทวี ตามประวัติเล่าว่าพระนางปทุมเจดีย์ อัครมเหสีของพระเจ้าอาทิตยราชทรงสร้างเจดีย์องค์นี้พร้อมกับพระสวามีที่สร้างพระธาตุหริภุญชัย

ลักษณธะเจดีย์ ก่ออิฐถือปูนทรงสี่เหลี่ยมขนาดลดหลั่นกันไป 5 ชั้น ฐานเป็นศิลาแลง ตัวเรือนธาตุประดับซุ้มจระนำ ภายในซุ้มมีพระพุทธปางประทับยืนประทับอยู่ประดิษฐานอยู่ในซุ้มจระนำที่ปัจจุบันหลงเหลืออยู่เพียงบางส่วน ส่วนปลียอดมีสีทองเหลืองอร่าม

ปทุมวดีเจดีย์หรือสุวรรณเจดีย์



ข้อมูลอ้างอิงจาก 
Wikipedia.org.th
lamphun.go.th