แม็กกาซีนพระ บทความและสาระความรู้

พระปิดตาหลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์ พิมพ์ปั้น
11 มิถุนายน 2563    12,105

พระปิดตาหลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์ พิมพ์ปั้น

โดย เชน สงขลา


หลวงพ่อแก้ววัดเครือวัลย์ ว่ากันว่าท่านเป็นพระภิกษุสงฆ์ซึ่งมีตัวตนอยู่จริงในช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 2 โดยไม่ปรากฏว่ามีหลักฐานใดๆ บันทึกอ้างอิงถึงประวัติของท่านอย่างชัดเจน เป็นแต่เพียงการบอกกล่าวเล่าขานถึงตัวท่านกันมาเป็นทอดๆ โดยมีเค้ามูลว่าหลวงพ่อแก้วกําเนิดจากครอบครัวชาวประมงในจังหวัดเพชรบุรี ต่อมาได้อุปสมบทที่วัดพระทรง จ.เพชรบุรี กระทั่งประมาณปี 2337 ท่านได้เริ่มออกธุดงค์เรื่อยมาจนมาถึงวัดเครือวัลย์ ซึ่งขณะนั้นเป็นวัดร้างและได้ทําการบูรณะปฏิสังขรณ์จนมีความเจริญ

สําหรับการสร้างวัตถุมงคลของท่าน ว่ากันว่าแรกเริ่มนั้น ท่านสร้างขึ้นเป็นพระปิดตาซึ่งทําขึ้นจากเนื้อผงพุทธคุณคลุกรัก โดยใช้วิธีปั้นขึ้นทีละองค์ เมื่อครั้งจําพรรษาที่วัดปากทะเล จ.เพชรบุรี ซึ่งต่อมาเรียกกันว่า พระปิดตา พิมพ์ปั้นวัดปากทะเล ครั้นหลังจากที่ท่านมาอยู่ที่วัดเครือวัลย์แล้ว ท่านก็ยังคงสร้างพระปิดตาขึ้นเป็นพิมพ์ปั้นลอยองค์อยู่ เจตนาของท่านเพื่อตอบแทนน้ำใจให้แก่ผู้ที่ร่วมพัฒนาวัด หลังจากมีชาวบ้านนําเอาพระปิดตาของท่านไปบูชาจนเกิดความอัศจรรย์ในพุทธคุณ จึงมีคนมักนิยมมาขอให้ท่านสร้างพระเพื่อคนจะได้นําไปบูชา ท่านจึงได้สร้างเป็นพระปิดตาขึ้น โดยมีแม่พิมพ์ที่ชัดเจน โดยปรากฏเป็นมาตรฐานทั้งหมด 6 พิมพ์ ด้วยกันคือ

1. พิมพ์ใหญ่หลังแบบ
2. พิมพ์ใหญ่หลังเรียบ
3. พิมพ์ใหญ่หลังยันต์
4. พิมพ์กลางหลังแบบ
5. พิมพ์กลางหลังเรียบ
6. พิมพ์เล็ก

โดยพระปิดตาแบบมีแม่พิมพ์ของท่านปัจจุบันนี้พบเห็นที่เป็นพระของท่านแท้ๆ น้อยมาก หากนับกันจริงๆ คงมีปรากฏในวงการไม่เกิน 100 องค์

หลวงพ่อแก้ว

พระปิดตาหลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์ พิมพ์ใหญ่หลังแบน นิยมและหายากที่สุด ราคาถ้าหากจะหามาใช้ต้องพูดคำเดียวว่าต้องทำงานกันเหนื่อยหน่อยครับ

 

หลวงพ่อแก้ว

พระปิดตาหลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์ พิมพ์ปั้น องค์นี้ถือเป็นองค์ครูได้ เพราะสมบูรณ์มาก ส่วนใต้ก้นผิวรักเปิดจนมองเห็นเนื้อหามวลสารชัดเจน

 

หลวงพ่อแก้ว

พระปิดตาหลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์ พิมพ์ปั้น องค์นี้ผิวที่ลดรักเปิดจนเห็นเนื้อในชัดเจน ง่ายต่อการพิจารณา
 

สําหรับพิมพ์ปั้นลอยองค์ที่นํามาให้ชมนั้นยิ่งยากแก่การพิจารณาว่าองค์ใดจะเป็นพระปิดตาของท่าน โดยส่วนใหญ่จะใช้เนื้อหามวลสารของพระปิดตา แบบมีแม่พิมพ์เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาถึงความถูกต้องของมวลสาร รวมทั้งอายุการสร้างเป็นอันดับแรก และพิจารณาจากรูปแบบเอกลักษณ์ในการปั้นเป็นอันดับที่สอง


พระปิดตาหลวงพ่อแก้ว เนื้อผงคลุกรัก หรือ จุ่มรัก ส่วนมากที่พบจะเป็นเนื้อละเอียด ปรากฏเม็ดสีน้ำตาล สีแดง สีดํา ขึ้นอยู่ประปรายโบราณเรียก “เนื้อกะลา” เพราะจะปรากฏเป็นจุดเล็กๆ คล้ายกะลาเก่าขัดมัน


พุทธคุณของพระปิดตาหลวงพ่อแก้วนั้น หนักแน่นในทางเมตตามหานิยมและโชคลาภ โดยเฉพาะด้านมหาเสน่ห์ว่ากันว่าหากใครขูดเอาเนื่อพระปิดตาใส่น้ำให้คนที่ตนรักดื่มก็มักจะสมหวังในไม่ช้า ด้วยเหตุนี้หลวงพ่อแก้วจึงนําพระปิดตาของท่านมาจุ่มรักปิดไว้ป้องกันมิให้คนมาขูดเนื้อพระไปใช้ในทางไม่ควร แต่บางคนกว่าที่ท่านจุ่มรักไว้ เพราะพระปิดตาของท่านเนื้อค่อนข้างยุ่ยง่าย เกรงจะเกิดความชํารุดแก่พระจึงได้รักษาไว้โดยการจุ่มรักเพื่อความคงทน

แต่ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดก็แล้วแต่ พ.ศ.นี้ คงไม่มีใครคิดพิเรนทร์เอาพระของท่านมาขูดเล่นเป็นแน่ เพราะพูดที่มูลค่าที่หายไปมากกว่าทุ่มเงินพาสาวๆ ไปเลี้ยงดูเสียอีกนะครับท่าน


พระเครื่องล้ำค่า ปีที่ 8 ฉบับ 91 มีนาคม 2553 หน้า 52