แม็กกาซีนพระ บทความและสาระความรู้

วันเข้าพรรษา แรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ วันสำคัญในพุทธศาสนาที่เกี่ยวข้องกับฤดูฝน และการเพาะปลูก
16 มิถุนายน 2563    17,361

วันสำคัญในพุทธศาสนาวันหนึ่งที่พระสงฆ์เถรวาทจะพักประจำอยู่ที่วัดโดยไม่ไปค้างแรมที่อื่นหรือที่เรียกว่า จำพรรษา

เป็นวันสำคัญในพุทธศาสนาวันหนึ่งที่พระสงฆ์เถรวาท จะพักประจำอยู่ที่วัดโดยไม่ไปค้างแรมที่อื่น หรือที่เรียกว่า จำพรรษา เว้นแต่มีกิจธุระ คือเมื่อเดินทางไปแล้วไม่สามารถจะกลับได้ในเดียวนั้น ก็ให้ไปพักแรมได้ คราวหนึ่งไม่เกิน 7 คืน เรียกว่า "สัตตาหะ” 
 



พิธีเข้าพรรษานี้ถือเป็นข้อปฏิบัติสำหรับพระสงฆ์โดยตรง ละเว้นไม่ได้ ไม่ว่ากรณีใด ๆ ก็ตาม ช่วงจำพรรษาจะอยู่ในช่วงฤดูฝน คือ ตั้งแต่แรม 1 ค่ำ เดือนแปด(๘) เรียกว่า "ปุริมพรรษา" จน ถึง 15 ค่ำ เดือนสิบเอ็ด(๑๑) หรือวันออกพรรษาของทุกปี 

วันเข้าพรรษา ถือเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่ต่อเนื่องมาจากวันอาสาฬหบูชา (วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนแปด(๘) ซึ่งพุทธศาสนิกชนชาวไทยได้สืบทอดประเพณีปฏิบัติการทำบุญในวันเข้าพรรษามาตั้งแต่สมัยสุโขทัย


รูปจาก pexels.com


เหตุหนึ่งที่เกิดให้มีวันเข้าพรรษา ในสมัยก่อนเนื่องจากเป็นฤดูฝน ที่มีการเพาะปลูกกัน เมื่อพระสงฆ์เดินไปทั่ว ชาวบ้านกลุ่มหนึ่งพากันกล่าวตำหนิพระสงฆ์ ที่เดินย่ำไปเหยียบข้าวกล้าของชาวนาเสียหาย ไม่ยอมหยุด แม้ในระหว่างฤดูฝน เมื่อเรื่องนี้ทราบถึงพระพุทธเจ้า พระองค์จึงทรงรับสั่งให้พระสงฆ์ประชุมแล้วจึงทรงบัญญัติเรื่องการเข้าพรรษาไว้ว่า "อนุชานามิ ภิกขะเว อุปะคันตุง" หมายถึง "ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้พวกเธออยู่จำพรรษา" 

สาเหตุที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้พระสงฆ์จำพรรษาอยู่ที่วัดตลอด 3 เดือน เพื่อให้พระสงฆ์ได้หยุดพักช่วงฤดูฝน จะเดินทางเป็นไปด้วยความยากลำบาก และเพื่อป้องกันความเสียหายจากการอาจเดินเหยียบย่ำธัญพืชของชาวบ้านที่ปลูกลงแปลงในฤดูฝน และเป็นช่วงเวลาหรือโอกาสสำคัญในรอบปีที่พระสงฆ์จะได้มาอยู่จำพรรษารวมกัน เพื่อศึกษาพระธรรมวินัยจากพระสงฆ์ที่ทรงความรู้ ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และสร้างความสามัคคีในหมู่คณะสงฆ์ด้วย 

 

สำหรับชาวไทย ได้เริ่มบำเพ็ญกุศลเนื่องในเข้าพรรษาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ตามข้อความที่จารึกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชว่า 

"พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองสุโขทัยนี้ทั้งชาวแม่ชาวเจ้า ทั้งท่วยปั่วท่วยนาง ลูกเจ้าลูกขันทั้งสิ้นทั้งหลายทั้งหญิงทั้งชายฝูงท่วยมีศรัทธาในพุทธศาสน์ มักทรงศีล เมื่อพรรษาทุกคน" ซึ่งนอกจากการรักษาศีลแล้ว พุทธศาสนิกชนไทยยังได้บำเพ็ญกุศลอื่น อย่างการถวาย เตียงตั่ง เสื่อสาด ผ้าจำนำพรรษา อาหารหวานคาวยารักษาโรค และธูปเทียนจำนำพรรษา เพื่อบูชาพระรัตนตรัยในเดือนแปด(๘)
 


สำหรับ กิจกรรมที่นิยมทำในวันเข้าพรรษา

  • ก่อนวันเข้าพรรษา มีพิธีหล่อเทียนจำนำพรรษา เป็นกิจกรรมส่งเสริมประเพณีที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาที่สืบต่อกันมา
  • เข้าวัดวัดทำบุญ ใส่บาตร ฟังพระธรรมเทศนา 
  • ถวาย เทียนเข้าพรรษา (หรือ หลอดไฟ) การถวายแสงสว่างให้กับพระภิกษุสงฆ์
  • ถวาย ผ้าอาบน้ำฝน แก่พระสงฆ์ เพื่อสำหรับให้พระสงฆ์ได้ใช้สำหรับอยู่จำ
  • บรรพชาอุปสมบทเป็นพระสงฆ์ เพื่ออยู่จำพรรษาตลอดฤดูพรรษากาลทั้ง 3 เดือน หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า "บวชเอาพรรษา"