แม็กกาซีนพระ บทความและสาระความรู้

พระพุทธชัมภูนุท มหาบุรุษลักขณาอสีตยานุบพิตร วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร
16 มิถุนายน 2563    1,426

พระประธานในพระวิหาร วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร หรือ “วัดแจ้ง” วัดประจำรัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

“พระพุทธชัมภูนุท มหาบุรุษลักขณาอสีตยานุบพิตร” พระประธานในพระวิหาร
วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร หรือ “วัดแจ้ง” วัดประจำรัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

พระพุทธรูปปางมารวิชัย หล่อด้วยทองแดงปิดทอง  หน้าตักกว้าง ๖ ศอก  
ตามประวัติว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้หล่อขึ้นพร้อมกับพระประธานในพระอุโบสถวัดสุทัศนเทพวราราม  ฝั่งพระนคร  ประดิษฐานอยู่บนแท่นไพทีเหนือฐานชุกชีขนาดใหญ่  

ต่อมาเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๖  ได้พบพระบรมธาตุ ๔ องค์ บรรจุในโกศ ๓ ชั้น คือ เงิน นาค และทอง  เป็นชั้น ๆ โดยลำดับ อยู่ในพระเศียร เหตุที่พบก็เพราะเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ เจ้าอาวาส   ขณะนั้นยังดำรงสมณศักดิ์เป็นพระธรรมไตรโลกาจารย์  ได้เห็นแสงสว่างปรากฏในห้องที่จำวัด และก่อนหน้านั้น พระครูใบฎีกาเจริญ  ผู้เฝ้าพระวิหารได้เห็นแสงพระรัศมี ลอยฉวัดเฉวียนอยู่ที่พระพุทธรูปสำคัญ  แล้วหายไปที่พระเศียรถึง ๒ ครั้ง ท่านจึงให้พระครูใบฎีกาเจริญ  ขึ้นไปดูที่พระเศียรจึงพบพระบรมธาตุดังกล่าว  เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.๒๔๙๖ 
 



ที่ฐานชุกชีด้านหน้า พระพุทธชัมภูนุทมหาบุรุษลักขณาอสีตยานุบพิตร ได้ประดิษฐาน “พระอรุณ” หรือ “พระแจ้ง” พระพุทธรูปปางมารวิชัย หล่อด้วยสำริด ศิลปะล้านช้าง หน้าตักกว้าง ๕๐ เซนติเมตร ซึ่งองค์พระพุทธรูปและผ้าทรงครองได้หล่อด้วยทองต่างสีกัน

ตามประวัติยังกล่าวว่า เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๐๑ ในสมัย รัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระอรุณหรือพระแจ้งมาจากเมืองเวียงจันทน์

โดยมีพระราชประสงค์จะอัญเชิญมาประดิษฐานในพระบรมมหาราชวัง แต่ภายหลังพระองค์ได้มีพระราชดำริที่จะย้ายพระอรุณหรือพระแจ้ง มาประดิษฐาน ณ วัดอรุณราชวราราม แทน ด้วยเหตุที่นามพระพุทธรูปพ้องกับชื่อวัด ดังปรากฏหลักฐานจากพระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึงพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระอนุชาธิราชในรัชกาลที่ ๔ เมื่อปีมะเมีย จุลศักราช ๑๒๒๐ (พุทธศักราช ๒๔๐๑) ความตอนหนึ่งว่า

“...ยังมีพระที่มีชื่อเอามาแต่เมืองเวียงจันทน์อีกสองพระองค์
พระอินแปลงน่าตัก ๒ ศอกเศษ พระอรุณน่าตักศอกเศษ...พระอรุณนั้น
ฉันคิดว่าจะเชิญลงมาไว้ในพระวิหารวัดอรุณ เพราะชื่อวัดกับชื่อพระต้องกัน
สมควรแต่จะให้จัดแจงที่ฐานเสียให้เสร็จก่อน แล้วจึงจะเชิญลงมาต่อน่าน้ำ...”


จากพระราชดำริดังกล่าว ในเวลาต่อมาจึงโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญ พระอรุณหรือพระแจ้งมาประดิษฐานในพระวิหารวัดอรุณราชวราราม โดยโปรดให้ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชี ด้านหน้าพระพุทธชัมภูนุทฯ ซึ่งเป็นพระประธานในพระวิหาร นับแต่นั้นมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน



ข้อมูลอ้างอิงจาก
www.watarun1.com
www.dhammajak.net