แม็กกาซีนพระ บทความและสาระความรู้

ที่สุดของเครื่องรางของขลังที่ได้รับความนิยมสูง หนุมานหลวงพ่อสุ่น วัดศาลากุล หนึ่งในเบญจภาคีเครื่องรางของขลังที่มาแรงในการเสาะหา ใกล้เคียงกับเขี้ยวเสือหลวงพ่อปาน
20 สิงหาคม 2563    8,213

หนุมาน หลวงพ่อสุ่น วัดศาลากุน จังหวัดนนทบุรี

 

ฉบับ 175 มีนาคม 2560 หนุมาน หลวงพ่อสุ่น หน้า 24

 

ที่สุดของเครื่องรางของขลังที่ได้รับความนิยมสูง ปัจจุบันเป็นที่ต้องการของนักสะสมบูชา ด้วยความหายากและเป็นที่ศรัทธาในด้านพุทธคุณ หนุมานแกะหลวงพ่อสุ่น วัดศาลากุน หนึ่งในเบญจภาคีเครื่องรางของขลังที่มาแรงในการเสาะหา ใกล้เคียงกับเขี้ยวเสือหลวงพ่อปาน ในชิ้นที่สวยๆ เป็นที่ยอมรับว่าใช่แน่นอนจะมีสนนราคาที่สูงมาก ดังคํากลอนที่กล่าวว่า “เสือหลวงพ่อปาน หนุมานหลวงพ่อสุ่น” แสดงถึงความสําคัญมาตั้งแต่โบราณที่กล่าวถึงว่าใครมีบูชาเครื่องรางทั้งสองชิ้นนี้นับว่าได้ครอบครองสุดยอดเครื่องรางของขลังเมืองไทยอย่างแท้จริง

วัดศาลากุน ตั้งอยู่ในบริเวณเกาะเกร็ด ขึ้นกับอําเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี เป็นวัดเก่าแก่สร้างมาตั้งแต่ปลายยุคสมัยกรุงศรีอยุธยา มีเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ (กุน) เป็นผู้สร้างวัด ได้รับการบูรณะก่อสร้างเรื่อยมา ด้วยเป็นวัดที่มีขนาดเล็กและมีประชาชนอาศัยไม่มากนักในยุคสมัยนั้น มารุ่งเรืองจนเป็นที่รู้จักก็ในยุคสมัยที่หลวงพ่อสุ่น เป็นเจ้าอาวาส จวบจนถึงปัจจุบันมีประชาชนเดินทางไปท่องเที่ยวและกราบไหว้ทําบุญกับรูปหล่อขนาดบูชาของหลวงพ่อสุ่นที่วัดเป็นประจําในทุกๆ วัน

สําหรับประวัติของหลวงพ่อสุ่น ไม่มีการบันทึกไว้อย่างแน่ชัด ทราบเพียงว่าท่านเป็นชาวเกาะเกร็ดมีเชื้อสายเป็นชาวไทยรามัญ (มอญ) โดยกําเนิดเกิดเมื่อประมาณปี พ.ศ.2435 เมื่อเติบโตจนเป็นหนุ่ม ได้บวชเป็นพระภิกษุที่วัดศาลากุน และได้เดินทางไปศึกษาเล่าเรียนวิชาตามที่ท่านชื่นชอบกับพระเกจิอาจารย์ ที่มีชื่อเสียงในสมัยนั้น พระอาจารย์ของหลวงพ่อสุ่นเท่าที่สืบค้นได้คือ พระนาคทัศน์ (เรียนวิชาการปลุกเสกหนุมาน) และได้มาเรียนเพิ่มเติมกับหลวงปู่เอี่ยม วัดสะพานสูง จนหลวงพ่อสุ่นมีความสนิทสนมเป็นสหธรรมิกกับหลวงปู่กลิ่น วัดสะพานสูง ด้วยเป็นศิษย์เอกของหลวงปู่เอี่ยมเช่นกัน หลังจากได้ร่ำเรียนวิชากับหลวงปู่เอี่ยมจนเชี่ยวชาญในวิชาคาถาอาคม ท่านได้กลับมาอยู่ประจำที่วัดศาลากุน เป็นที่ศรัทธาของชาวบ้านจนได้รับตําแหน่งเจ้าอาวาสในยุคต่อมา และได้สร้างทำนุบํารุงวัดจนรุ่งเรือง มีศิษย์จากที่อยู่ไกลๆ เดินทางมากราบไหว้ให้ท่านช่วยในเรื่องเคราะห์ร้าย รักษาโรคภัย และขอเครื่องรางของขลัง ที่ท่านได้สร้างขึ้น หลวงพ่อปกครองวัดจนถึงประมาณปี พ.ศ.2482 ท่านจึงได้มรณภาพที่วัดศาลากุน สิริอายุได้ 78 ปี โดยในวันประชุมเพลิงในปี พ.ศ.2489 หลวงปู่กลิ่น วัดสะพานสูง เดินทางมาเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ด้วยตัวท่านเอง

เมื่อครั้งที่หลวงพ่อสุ่นเดินทางกลับมาอยู่ที่วัดศาลากุน หลังจากเดินทางธุดงค์ไปร่ำเรียนวิชา หลวงพ่อได้ปลูกต้นรัก และต้นพุดซ้อน ไว้ข้างๆ กุฏิของท่านและได้ปลุกเสกน้ำมนต์ รดต้นไม้นั้นทุกวัน จนเมื่อหลวงพ่อได้เป็นเจ้าอาวาส ท่านจึงได้นำต้นไม้ทั้งสองมาแกะเป็นรูปทรงหนุมาน โดยมีลูกศิษย์ที่มีความชำนาญในการแกะยุคแรกๆ ให้ท่าน เรียกว่าศิลปชาวบ้าน โดยเป็นการสร้างแจกครั้งแรกประมาณปี พ.ศ.2468 ในงานทําบุญของทางวัดมีจํานวนไม่เกิน 100 ชิ้น เมื่อศิษย์ที่ได้รับไปต่างประสบกับพุทธคุณในทุกๆ ด้าน ทั้งทางเมตตามหานิยม มีมหาอํานาจ แคล้วคลาด คงกระพันชาตรี ทําให้มีการเรียกร้องให้หลวงพ่อสร้างขึ้นอีกครั้ง

โดยในสองปีต่อมาประมาณปลายปี พ.ศ.2470 หลวงพ่อได้ปลุกเสกแจกศิษย์ที่มาร่วมทําบุญงานใหญ่ของทางวัดอีกครั้ง ในครั้งนี้ได้มีการแกะรูปหนุมานได้อย่างสวยงามมากขึ้นจนเป็นแบบมาตราฐาน ทั้งศิลปแบบหน้าโขนกับศิลปแบบหน้ากระบี่ และยังมีการแกะจากงาช้างด้วยจํานวนไม่มาก สําหรับการปลุกเสกกล่าวขานกันมาว่า มีศิษย์ที่ช่วยงานหลวงพ่อได้เล่าว่า เมื่อแกะครบตาม จํานวนที่หลวงพ่อต้องการ ได้ใส่บาตรนําเข้ามาปลุกเสกในโบสถ์ โดยหลวงพ่อได้ปิดประตูพระ อุโบสถอย่างมิดชิดและได้ให้ศิษย์นํากิ่งไม้มาสุมรอบๆ ตัวของท่าน เมื่อขั้นตอนที่หลวงพ่อปลุกเสกจนเสร็จสิ้น ท่านจะเรียกให้ศิษย์มาช่วยกันเก็บหนุมานแกะของท่านที่มหัศจรรย์เป็นอย่างยิ่ง หนุมานของท่านเหมือนมีชีวิตต่างเกาะติดตามกิ่งไม้ ต้องช่วยกันแกะออกนํามาใส่บาตรเหมือนเดิม เป็นเรื่องเล่าสืบมาที่ทําให้ทราบในการปลุกเสกของหลวงพ่ออย่างชัดเจน

ในฉบับนี้ขอนําเสนอหนุมานแกะของหลวงพ่อสุ่นชนิดเนื้อไม้ ทั้งแบบศิลปหน้าโขน และแบบศิลปหน้ากระบี่ ที่เป็นชิ้นที่มีมาตรฐานได้รับการยอมรับในปัจจุบัน ฝีมือการแกะของช่าง ความเก่าของเนื้อไม้ ร่องรอยธรรมชาติ ที่ควรใช้เป็นครูในการพิจารณาได้อย่างชัดเจน

 

ฉบับ 175 มีนาคม 2560 หนุมาน หลวงพ่อสุ่น พิมพ์หน้าโขน วันศาลากุน หน้า 24

 

ด้วยความที่หนุมานของหลวงพ่อสุ่นแท้ๆ หาได้ยาก ความต้องการจึงมีสูงตามมา ทําให้สนนราคาสูงตามไปด้วย จากประสบการณ์ที่กล่าวขานร่ำลือมานาน ว่าดีทางด้านคงกระพันชาตรี แม้กระทั้งระเบิดยังทําอันตรายไม่ได้ มีพุทธคุณสูงทางด้านเมตตามหานิยม ศิษย์ของหลวงพ่อที่เป็นคณะลิเกชื่อดังมักจะต้องมีติดตัวเวลาออกทําการแสดงทุกครั้ง แถมบรรดาพ่อค้าแม่ค้าในอดีตของเมืองนนท์ยังนิยมบูชาเพราะเชื่อถือว่ามีติดตัวแล้วค้าขายดีเงินทอง เพิ่มพูน ยิ่งเรื่องมหาอํานาจเป็นที่ต้องการของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในสมัยนั้น ตัวอย่างเช่น ศิษย์เอกของหลวงพ่อสุ่น เช่น พระยาพหลพลพยุหเสนา, จอมพล ป.พิบูลสงคราม ฯลฯ ต่างบูชาหนุมานของหลวงพ่อติดตัวและได้เป็นใหญ่เป็นโตในหน้าที่การงานกันทุกๆ คน แสดงถึงประสบการณ์ในการบูชาหนุมานของหลวงพ่อจนเป็นที่นิยมเสาะหาบูชาติดตัวมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนี้

 

ฉบับ 175 มีนาคม 2560 หนุมาน หลวงพ่อสุ่น พิมพ์หน้ากระบี่ วันศาลากุน หน้า 24

 

พระเครื่องล้ำค่า ปีที่ 15 ฉบับ 175 มินาคม 2560 หน้า 24-25