แม็กกาซีนพระ บทความและสาระความรู้

อมตพระเถราจารย์แห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า จ.ชัยนาท พระเครื่องเหนียวแบบไว้ใจได้ แคล้วคลาด เมตตามหานิยม
19 มีนาคม 2563    4,041

หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า จ.ชัยนาท

โดย ศาล มรดกไทย

 

อมตพระเถราจารย์แห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา

ระยะทางอันยาวไกลแห่งสายน้ำเจ้าพระยาเลี้ยวลดไหลผ่านจังหวัดต่างๆ ของเมืองไทยตลอดสองฟากฝั่งแม่น้ำเต็มไปด้วยวัดจํานวนมากมายนับเป็นร้อยๆ วัด แต่ระยะทางของสายน้ำแห่งนี้ ปรากฏวัดๆ หนึ่งที่ตั้งแต่อดีตจะเป็นที่พึ่งของบรรดาผู้ที่เดินทางสัญจรผ่านไปมาจากการบรรทุกสินค้าต่างๆ มาค้าขายที่กรุงเทพฯ และเมื่อมีโอกาสผ่านจังหวัดชัยนาท จะต้องแวะจอดเรือเพื่อขึ้นไปกราบไหว้พระครูวิมลคุณากร (หลวงปู่ศุข) แห่งวัดปากครองมะขามเฒ่า ขอวัตถุมงคลนํามาอาราธนาติดตัวเพื่อคุ้มครองให้ผลทางด้านเมตตาค้าขาย แคล้วคลาดจากภัยอันตราย ด้วยความเมตตาของหลวงปู่และชื่อเสียงทางวิชาอาคมของท่านขจรไกลไปทั่วเมืองไทยตั้งแต่สมัยอดีตที่ท่านมีชีวิตอยู่จวบจนปัจจุบันท่านเป็นพระเกจิอาจารย์องค์หนึ่งที่อยู่อันดับต้นๆ ในใจของนักนิยมบูชาสะสมพระเครื่องชาวไทยตลอดมา

ประวัติหลวงปู่ศุข วัดปากครองมะขามเฒ่า

ท่านเป็นชาวอําเภอวัดสิงห์ จังหวัดชันนาท เกิดเมื่อปี พ.ศ.2390 ตั้งแต่วัยเยาว์อยู่กับบิดามารดาจนเมื่ออายุประมาณสิบขวบได้ย้ายมาอยู่กับลุงของท่านที่อําเภอบางเขน จังหวัดพระนคร (ปัจจุบันอยู่ในจังหวัดนนทบุรี) จนเมื่อวัยหนุ่มท่านประกอบอาชีพทําสวนและได้แต่งงานมีครอบครัวจนมีบุตรชายหนึ่งคน

เมื่อท่านมีอายุได้ 25 ปี ตรงกับปี พ.ศ.2415 ท่านได้อุปสมบทที่วัดโพธิ์ทองล่าง จังหวัดนนทบุรี โดยมีพระครูเชย จันทสิริ เจ้าอาวาสวัดเป็นพระอุปัชฌาย์ หลังจากที่ได้บวชเรียนด้วยความที่ท่านสนใจในการศึกษาวิชาอาคมต่างๆ อยู่แล้ว ทําให้ท่านตัดสินใจบวชโดยไม่สึกและเดินทางไปร่ำเรียนวิชาจากพระอาจารย์ต่างๆ จากหลายๆ ที่ หลายๆ จังหวัด จนมีความเชี่ยวชาญในพระเวทย์วิชาอาคมทุกๆ แขนง
หลวงปู่ศุข

หลังจากได้เดินธุดงค์เป็นระยะเวลานานเกินสิบปี ประมาณปี พ.ศ.2480 ท่านได้เดินทางผ่านมายังอําเภอวัดสิงห์ ความคิดที่จะไปเยี่ยมบิดามารดาของท่าน และเมื่อได้พบหน้าจนรู้แน่ชัดว่าเป็นท่านมารดาจึงขอร้องให้ท่านอยู่จําพรรษาที่วัดอู่ทอง (วัดปากครองมะขามเฒ่า) ใกล้ๆ บ้านและขอร้องไม่ให้เดินทางไปไหน ยังมีญาติพี่น้องชาวบ้านที่เลื่อมใสนิมนต์ท่านขอให้รับเป็นเจ้าอาวาสวัดอู่ทอง ที่มีสภาพทรุดโทรมเพื่อให้ท่านเป็นที่พึ่งของชาวบ้านและบูรณะปฏิสังขรณ์วัดให้เจริญรุ่งเรืองดังเดิม

ตั้งแต่ท่านปกครองวัดเป็นเจ้าอาวาสก็ได้เป็นศูนย์รวมยึดเหนี่ยวจิตใจให้ความช่วยเหลือทุกๆ คน ที่เดินทางมาหาจนชื่อเสียงในวิชาอาคมของท่านโด่งดังไปไกลทั่วเมืองไทย  เรียกว่าสมัยที่ท่านมีชีวิตอยู่จะมีผู้เดินทางมากราบไหว้จากหลายๆ จังหวัด รวมถึงที่เดินทางจากกรุงเทพ และท่านก็เดินทางมาเมืองหลวงอยู่บ่อยๆ ด้วยความที่ท่านมีเมตตาถ่ายทอดวิชาความรู้เท่าที่ศิษย์ของท่านจะเล่าเรียนได้ท่านจึงมีลูกศิษย์ที่เป็นทั้งฆราวาสและพระสงฆ์ นับได้หลายสิบรูปยกตัวอย่างเช่น หลวงพ่อขัน วัดนกกระจาบ, หลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ, หลวงพ่ออิ่ม วัดหัวเขา, หลวงพ่อมุ่ย วัดดอนไร่, หลวงพ่อแฉ่ง วัดบางพัง , หลวงพ่อนอ วัดกลางท่าเรือ, หลวงพ่อกวย วัดโฆสิตาราม, หลวงพ่อเอีย วัดบ้านด่าน, หลวงพ่อแปลก วัดโบสถ์ ฯลฯ

สําหรับฆราวาสที่เป็นลูกศิษย์เอกและท่านมีความเมตตารักลูกศิษย์คนนี้มากคือ เสด็จพ่อกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ซึ่งประวัติความผูกพันของลูกศิษย์และอาจารย์ทั้งคู่นี้เป็นที่ทราบกันดีว่ามีเวลาว่างเมื่อใด เสด็จพ่อจะต้องเดินทางมาหาหลวงปู่ศุขที่วัดบ่อยๆ และหลวงปู่ก็มักจะเดินทางเข้าเมืองหลวงไปเยี่ยมเสด็จพ่อเป็นประจํา

จากการที่ท่านมีชื่อเสียงในวัตถุมงคลและวิชาอาคมของท่านทําให้มีผู้มาร่วมทําบุญสร้างวัดอู่ทอง ที่ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นวัดปากครองมะขามเฒ่า จนมีความเจริญรุ่งเรืองและได้ขยายการพัฒนาวัดอีกหลายๆ วัดเป็นจํานวนมาก โดยลูกศิษย์ท่านจะมีทั้งชาวบ้านธรรมดาจนถึงเจ้าเมืองข้าราชการเจ้าขุนมูลนายหลายๆ ท่าน ตลอดเวลาที่ท่านปกครองวัดท่านให้ความเมตตาต่อลูกศิษย์แต่ท่านจะชอบคนจริงที่มีใจกล้าหาญ

และท่านมักจะแสดงอภินิหารความศักดิ์สิทธิ์ในวิชาการเสกเป่าสิ่งต่างๆ ให้เปลี่ยนร่างเป็นสัตว์ทั้งกระต่าย งู จระเข้ เพื่อให้ คนใกล้ชิดได้ดูเป็นประจํา ยังมีวิชาการดําน้ำลงไปจารตระกรุดที่มีพระเกจิอาจารย์ทั่วประเทศทําได้แบบท่านน้อยรูปมาก ยิ่งวิชาด้านมหาอุดคงกระพันชาตรี ที่บรรจุอยู่ในวัตถุมงคลของท่านนับเป็นวิชาขั้นสูงสุดที่พระเกจิอาจารย์น้อยองค์จะทําได้อย่างท่าน

หลวงปู่ศุขท่านได้ปกครองวัดช่วยเหลือญาติโยมตลอดมาจนถึงบั้นปลายชีวิตท่านจึงได้เริ่มอาพาธและมรณภาพอย่างสงบเมื่อปี พ.ศ.2466 ที่วัดปากครองมะขามเฒ่า ด้วยความอาลัยรักของลูกศิษย์และงานศพของท่านเป็นงานใหญ่ มีพระราชาคณะ ผู้ใหญ่รวมถึงประชาชนเดินทางมาร่วมงานมากมายถึงขนาดที่แม่น้ำหน้าวัดมีเรือจอดเต็มแม่น้ำเดินข้ามไปถึงอีกฝั่งได้เลยทีเดียว

ฉบับ 94 หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า หน้า 30

วัตถุมงคลของหลวงปู่ศุข

จากการที่หลวงปู่ศุข ท่านเชี่ยวชาญในวิชาอาคมที่ท่านได้ร่ำเรียนมา ในระยะแรกที่ท่านปกครองวัดลูกศิษย์ที่มาช่วยท่านก่อสร้างวัดท่านจึงได้ทํา ผ้ายันต์ เสื้อยันต์ ลูกประคําและตระกรุด เพื่อให้ลูกศิษย์เอาไว้คุ้มครองตัวจนเมื่อความศักดิ์สิทธิ์อภินิหารที่บรรดาลูกศิษย์ได้พบเจอทําให้พูดต่อๆ กันไป และมีผู้เดินทางมาขอท่านเป็นจํานวนมาก ทําให้ตระกรุดและผ้ายันต์ที่สร้างแต่ละครั้งได้น้อยไม่พอแจก ท่านจึงเริ่มสร้างพระพิมพ์สี่เหลี่ยมประภามณฑลซึ่งสร้างในแต่ละครั้งมีจํานวนมากกว่าแต่ก็ไม่พอแจกอยู่ดีทําให้ต้องมีการสร้างในหลายๆ ครั้งหลายๆ แบบพิมพ์ แต่ส่วนมากจะสร้างจากเนื้อชินตะกั่วและมีเนื้อทองแดงเนื้อทองเหลืองเป็นบางครั้งคราว

ยังมีเหรียญหล่อพิมพ์ประภามณฑลที่สร้างเพื่อหารายได้ไปบูรณะวัดต่างๆ ที่ลูกศิษย์ใกล้ชิดขอให้ท่านทํา เช่น วัดหัวหาด วัดส้มเสี้ยว วัดคลองขอม ฯลฯ สําหรับประเภทเนื้อผงจะมีพิมพ์แจกแม่ครัวทั้งเล็กและใหญ่ พิมพ์ปิดตากรมหลวงฯ และพิมพ์ปิดตาพุงปล่อง ด้านเหรียญปั้มท่านอนุญาติให้ทําครั้งแรกเป็นเหรียญรูปพระพุทธชินราชออกที่วัดโพธาราม นครสวรรค์ และเหรียญรูปหลวงพ่อธรรมจักรพระคู่บ้านคู่เมืองชัยนาท

จนถึงปลายอายุขัยหลวงปู่ ที่เป็นเหรียญรูปท่านสร้างเมื่อปี พ.ศ.2466 นับเป็นหนึ่งในห้าเหรียญเบญจภาคียอดนิยมของเมืองไทย ยังมีพระเครื่องประเภทปรกใบมะขามที่สร้างและปลุกเสกที่วัดอนงคาราม รวมถึงรูปถ่ายติดกระจกหุ้มเงินขนาดเล็กหลายๆ รูปแบบที่ทันในยุคสมัยของท่าน

โดยรวมแล้ววัตถุมงคลของท่านมีหลากหลายรูปแบบซึ่งปัจจุบันมีของทําเทียมเลียนแบบในทุกๆ ชนิดด้วยได้รับความนิยมและมีราคาสูง ท่านที่สนใจเสาะหาคงต้องศึกษาและหาที่ปรึกษาที่เชื่อใจได้จะเป็นการดี

หลวงปู่ศุข วัดปากครองมะขามเฒ่าท่านเป็นพระอาจารย์อันดับหนึ่งของชาวเมืองชัยนาทและ เป็นที่นับถือบูชาของชาวไทยทั่วประเทศด้วยพลังความศักดิ์สิทธิ์ในวัตถุมงคลของท่าน ดังคํากล่าวตั้งแต่โบร่ำโบราณที่ยกย่องว่า พระเครื่องของท่านเหนียวแบบไว้ใจได้ รวมถึงยังดีทางด้านแคล้วคลาด เมตตามหานิยม

ซึ่งพระเครื่องของท่านตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันผู้ใดที่มีพระเครื่องแท้ๆของท่านมักจะนํามาอาราธนาติดตัวด้วยความเชื่อมั่นและมั่นใจในพุทธคุณเรียกว่าขอให้มีพระเครื่อง ของหลวงปู่ศุข แท้ชิ้นเดียวเป็นพอ

ฉบับ 94-หน้า 31 หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า

 

เอื้อเฟื้อภาพโดย คุณเล็ก บางลำภู, คุณแดง รามอินทรา, คุณพจน์ เก้าเทวา, คุณบอยท่าพระจันทร์, คุณบอล ทวีทรัพย์