แม็กกาซีนพระ บทความและสาระความรู้

9 สุดยอดเครื่องรางของขลัง ความนิยมล้นเหลือ พุทธคุณมหาศาล
8 กันยายน 2563    15,458

9 สุดยอดเครื่องรางของขลัง ความนิยมล้นเหลือ พุทธคุณมหาศาล

1. เขี้ยวเสือหลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ย จังหวัดสมุทรปราการ
2. เบี้ยแก้หลวงพ่อนุ่ม วัดนางใน จังหวัดอ่างทอง
3. ตะกรุดหนังหน้าผากเสือ หลวงปู่นาค วัดแจ้ง กรุงเทพมหานคร
4. แพะหลวงพ่ออ่ำ วัดหนองกระบอก จังหวัดระยอง
5. จตุคามรามเทพ จังหวัดนครศรีธรรมราช
6. หนุมานหลวงพ่อสุ่น วัดศาลากุน จังหวัดนนทบุรี
7. มีดปากกาหลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ จังหวัดนครสวรรค์
8. ปิตตาหลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก จังหวัดนครปฐม
9. ไอ้ไข่ วัดเจดีย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช

------------------------------

เขี้ยวเสือหลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ย สมุทรปราการ
เขี้ยวเสือหลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ย จ.สมุทรปราการ


พุทธคุณ ด้านเมตตามหานิยม มหาอํานาจขั้นสูง เหมาะกับผู้เป็นเจ้าของกิจการที่ต้องควบคุมลูกน้อง หรือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่ต้องดูแลผู้ใต้บังคับบัญชา

พระครูพิพัฒน์นิโรธกิจ วัดมงคลโคธาวาส ท่านเกิดเมื่อปี พ.ศ. 2368 เป็นชาวบางบ่อ ตำบลบางเหี้ย จังหวัดสมุทรปราการ ในปี พ.ศ. 2443 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จไปที่ตำบลบางเหี้ย เพื่อที่จะทำพิธีเปิดประตูน้ำ ปรากฏเรื่องที่หลวงพ่อปานได้เอาชิ้นหมูเสียบกับไม้ แกว่งล่อเอาเสือที่ตกลงน้ำต่อหน้าพระพักตร์ หลังจากนั้นพระพุทธเจ้าหลวง มีรับสั่งถามว่า “ที่แจกเครื่องรางเป็นรูปเสือมีความหมายอย่างไร ?” หลวงพ่อปานทูลตอบว่า “ได้ไปรุกขมูลธุดงค์ในป่า พบเสือใหญ่หลายครั้ง ได้สังเกตดูเห็นว่า “เสือ” เป็นสัตว์ปราดเปรียว ฉลาด ว่องไว เฉียบขาด มีตบะ และอำนาจ สามารถที่จะใช้ตาสะกดสัตว์อื่นให้อยู่ในอำนาจได้ คนทั่วไปเรียกผู้ร้ายใจฉกรรจ์ว่า “ไอ้เสือ” ก็คือเอาความเก่งกาจของเสือมานั่นเอง การที่ทำเครื่องรางรูปเสือ มิใช่จะสนับสนุนให้คนกลายเป็น ”อ้ายเสือ” เพียงแต่ต้องการเอาลักษณะของเสือจริงในป่า ที่ปราดเปรียว ว่องไว เฉลียวฉลาด เฉียบขาดมาเป็นตัวอย่างเท่านั้น” พระพุทธเจ้าหลวงทรงพระราชทาน ผ้าไตร ผ้ากราบ และได้พระราชทานสมณศักดิ์เป็น “พระครูพิพัฒน์นิโรธกิจ” พระราชนิพนธ์เรื่อง ”เสด็จประพาส มณฑลปราจิณ” ได้เล่าถึงหลวงพ่อปานความตอนหนึ่งว่า “คุณวิเศษที่คนเลื่อมใสคือ ให้ลงตะกรุด ด้ายผูกข้อมือ รดน้ำมนต์ ที่นิยมกันมากคือ เขี้ยวเสือแกะเป็นรูปเสือ เล็กบ้าง ใหญ่บ้าง ฝีมือหยาบๆ …. เวลาแย่งชิงก็ขึ้นไปถึง 3 บาท ว่า 6 บาทก็มี ได้รูปเสือนั้นแล้วจึงไปให้พระครูปลุกเสก”
หลวงพ่อมรณภาพเมื่อ วันที่ 29 สิงหาคม 2453 

เบี้ยแก้หลวงพ่อนุ่ม วัดนางใน อ่างทอง
เบี้ยแก้ หลวงพ่อนุ่ม วัดนางใน

พุทธคุณ ป้องกันคุณไสย ยาสั่ง แก้กลับเหตุร้ายให้กลายเป็นดี คงกระพันชาตรี แคล้วคลาดปลอดภัย เหมาะที่จะใช้พกพาติดกาย ไม่เว้นแม้แต่สถานที่อโคจร

เบี้ยแก้นับเป็นเครื่องรางของขลังที่เกจิอาจารย์ยุคเก่าที่เชี่ยวชาญวิชาอาคมมักนิยมสร้างให้ศิษย์เอาไว้บูชาติดตัว
คาถาเสกเบี้ยแก้ ตั้งนะโม 3 จบ เสร็จแล้วให้ตั้งธาตุ นะ มะ พะ ทะ (3 จบ) จะ ภะ กะ สะ (3 จบ)เมื่อตั้งธาตุเสร็จแล้ว ให้ภาวนาคาถา 3จบ ดังนี้
“อะสิสะติ ธะนูเจวะ สัพเพเต อาวุธานิจะ ภัคคะ ภัคคา วิจุนนานิ โลมังมาเม นะผุสสันติ”

หลวงพ่อนุ่ม ธมฺมาราโม แห่งวัดนางในธัมมิการาม จังหวัดอ่างทอง หนึ่งในพระคณาจารย์ชื่อดังของจังหวัดอ่างทองที่สร้างวัตถุมงคลประเภทเบี้ยแก้ โดยพื้นเพแล้วท่านเกิดที่บ้านสามจุ่น ตำบลวังน้ำซับ อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี เกิดเมื่อวันที่15 สิงหาคม พ.ศ. 2426 ตรงกับวันเสาร์ แรม 3 ค่ำ เดือน 9 ปีมะแม เมื่ออายุ 10 ปี ได้เล่าเรียนศึกษาภาษาไทยและภาษาขอมกับพระอธิการพ่วง อุปสมบทเมื่ออายุ 20 ปีณพัทธสีมาวัดปลายนา อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี วันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2446 มีพระครูธรรมสารรักษา (อ้น) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระปลัดดี วัดปู่เจ้า และพระอธิการช้าง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ตามลำดับ ได้รับฉายาว่า"ธมฺมาราโม" 

ในปี พ.ศ. 2459 วัดหลวงได้ว่างเจ้าอาวาสลง ศรัทธามหาชนของชาววัดหลวงจึงได้พร้อมใจกันมาอาราธนานิมนต์หลวงพ่อนุ่มให้ไปเป็นเจ้าอาวาส ขณะนั้นท่านมีพรรษาที่ 14 ช่วงที่ท่านดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสฯ ได้พัฒนาวัดจนเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ จนพุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่ของชาวอำเภอวิเศษชัยชาญนำโดย นายเผ่า ชัชวาลยางกูร คหบดีและเป็นเจ้าของตลาดสดในอำเภอวิเศษชัยชาญ ต่างเห็นพ้องต้องกันควรที่จะอาราธนาท่านมาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดนางในธัมมิการาม หลวงพ่อนุ่ม ธมฺมาราโม ได้ถึงแก่มรภาพเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2497 เวลา 23.15 น. รวมสิริอายุได้ 72 ปี 52 พรรษา 

 

ตะกรุดหนังหน้าผากเสือ หลวงปู่นาค วัดแจ้ง
ตะกรุดหนังหน้าผากเสือ หลวงปู่นาค วัดแจ้ง (วัดอรุณราชวราราม)

พุทธคุณ อานุภาพครอบจักวาล มีอำนาจต่อผู้พบเห็น สยบสิ่งอัปมงคล ป้องกันคุณไสย ลมเพลมพัด การกระทำของผู้มีอวิชชา หรือทำของ อยู่ยงคงกระพัน แคล้วคลาดปลอดภัย มีโชคลาภ เมตตามหานิยม มหาเสน่ห์ในตัว ดังพญาเสือฉันใดฉันนั้น

ตะกรุดหนังหน้าผากเสือนั้น ของหลวงปู่นาคนั้นถือได้ว่าเป็นอันดับหนึ่ง ตามด้วยตะกรุดหนังหน้าผากเสือของ หลวงปู่บุญ - หลวงพ่อหว่าง - หลวงพ่อนอ - หลวงพ่อเต๋ - หลวงพ่อตาบ - หลวงพ่อคง จันทบุรี ตามลำดับความนิยม หลวงปู่นาคท่านเป็นอดีตเจ้าอาวาสวัดอรุณราชวราราม หรือ วัดแจ้ง โดยท่านได้ี่รับการถ่ายทอดวิชาการสร้างตะกรุดหนังหน้าผากเสือจาก หลวงปู่สว่าง ท่านมีศักดิ์ เป็นหลานหลวงปู่ช้าง วัดเขียนเขต และยังเป็นอาจารย์ของหลวงปู่เหมือน วัดโรงหีบ (นางวง) แม้แต่ หลวงปู่ช่วง วัดบางหญาแพรก ยังมาเรียนวิชาทำผ้าประเจียดกับท่าน

ตะกรุดหนังหน้าผากเสือของหลวงปู่นาคนั้น ท่านทำแจกเฉพาะศิษยานุศิษย์ ในจำนวนไม่มากนัก ทำให้หายากและเป็นที่ต้องการของนักสะสม
หลวงปู่นาค หรือ พระพิมลธรรม ท่านเกิดวันจันทร์ที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2415 เป็นบุตรของ นายนวล นางเลื่อน ได้บรรพชาเป็นสามเณรเมื่อมีอายุ 12 ปี ณ วัดสารพัดช่าง และได้อุปสมบทที่ วัดสุทัศน์ เมื่อปี พ.ศ.2435  หลวงปู่นาค ท่านมรณภาพ วันอังคารที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ.2485 ตรงกับ ขึ้น 2 ค่ำ เดือน 8 ปีมะเมีย รวมสิริอายุ 72 ปี 6 เดือน 50 พรรษา 


แพะหลวงพ่ออ่ำ วัดหนองกระบอก ระยอง

แพะหลวงพ่ออ่ำ วัดหนองกระบอก จังหวัดระยอง

พุทธคุณ
เมตตามหานิยม มีเสน่ห์ต่อเพศตรงข้าม อีกทั้งค้าขายดี มีคนรัก มีคนเมตตา

แพะหลวงพ่ออ่ำ เป็นเครื่องรางยอดนิยมที่หายาก และมีราคาสูงมากชนิดหนึ่งของวงการในปัจจุบัน โดยหลวงพ่ออ่ำท่านเป็นผู้สร้างแพะแกะจากเขาควาย ที่ถูกฟ้าผ่าตาย ศิลป์ที่ช่างใช้ในการแกะแพะนั้นมีเอกลักษณ์ชัดเจนและเป็นมาตรฐาน นอกจากนี้ท่านยังเป็นต้นตำรับการสร้างสีผึ้งเจ็ดจันทร์ สุดยอดสีผึ้งมหาเสน่ห์ที่มีกรรมวิธีการสร้างที่ซับซ้อน 

แพะหลวงพ่ออ่ำ วัดหนองกระบอก จังหวัดระยอง ตามตำราการสร้างกล่าวไว้ว่าแพะนั้นมีคุณวิเศษ 2 อย่างคือ ความอดทน เพราะแพะเป็นสัตว์ที่ตายยาก มีความอดทนสูง (จึงมีความคงกระพัน) และความมีเสน่ห์ เพราะแพะเป็นสัตว์ที่มีเสน่ห์แรง ตัวผู้หนึ่งตัวนั้นจะมีตัวเมียอยู่ด้วยเป็นฝูง (จึงมีคุณทางเมตตามหานิยม) 
หลวงพ่ออ่ำ วัดหนองกระบอก จังหวัดระยอง เป็นหนึ่งในสุดยอดพระเกจิอาจารย์ยุคเก่าแห่งภาคตะวันออก ท่านเกิดเมื่อปี พ.ศ. 2408 และมรณภาพ พ.ศ. 2495 ท่านเป็นเจ้าอาวาสลำดับที่ 5 แห่งวัดหนองกระบอก และได้ดำรงตำแหน่งนี้เป็นเวลารวมถึง 56 ปี หลวงพ่ออ่ำเป็นศิษย์ที่ได้เรียนเวทย์วิทยาคมมาจากหลวงปู่สังข์เฒ่า วัดละหารไร่ 

 

จตุคามรามเทพ นครศรีธรรมราช
จตุคามรามเทพ สุริยัน-จันทรา กลมใหญ่

พุทธคุณ เชื่อว่าทรงฤทธานุภาพในทุก ๆ ด้าน ตามจารึกของชาวศรีวิชัยได้บอกว่า "มีอานุภาพดุจดังพระอาทิตย์และพระจันทร์ ที่ขจัดความมืดมัวในโลก" การขออธิษฐานจากพระองค์นั้นทำได้โดยมีเงื่อนไข 3 ประการ
1. อธิษฐานขอในสิ่งที่เป็นไปได้ โดยไม่ขัดต่อศีลธรรม
2. เมื่อได้รับสิ่งที่หวังแล้ว ต้องรักษาสัจจะที่ได้ให้ไว้กับพระองค์
3. ควรจะสร้างกุศลกรรมถวายแด่องค์จตุคามรามเทพ
แต่ที่สำคัญ อย่าลำพังเพียงอธิษฐาน ต้องสร้างกุศลกรรมให้แก่ตนเองให้ครบทุกด้านด้วย คือ ให้ทาน รักษาศีล และบำเพ็ญภาวนา

คาถาสำหรับบูชา ตั้งสมาธิให้จิตใจสงบ จากนั้นท่อง (นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ) 3 จบ แล้วให้กล่าวตามบทสวดดังต่อไปนี้ "จะตุคามรามะเทวัง โพธิสัตตัง มะหาคุณัง มะหิทธิกัง อะหัง ปูเชมิ สิทธิลาโภ นิรันตะรัง นะโมพุทธายะ" ซึ่งแปลความได้ว่า "ข้าพเจ้าขอบูชา ท้าวจตุคามรามเทพโพธิสัตว์ ผู้มีพระคุณอันยิ่งใหญ่ มีฤทธานุภาพไพศาล ขอความสำเร็จและลาภ จงมีแก่ข้าพเจ้า เป็นนิรันดร"

จตุคามรามเทพ หมายถึง เทพรักษาวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช สององค์ คือ ท้าวขัตตุคาม และ ท้าวรามเทพ ซึ่งเดิมในความเชื่อของศาสนาพราหมณ์เป็นเทพชั้นสูง และมีอยู่ทั่วไปทุกภาคของประเทศไทย แต่เมื่อภูมิภาคแถบอุษาคเนย์นี้รับอิทธิพลของพุทธศาสนาเข้ามา ท้าวขัตตุคาม และ ท้าวรามเทพ จึงถูกเปลี่ยนสถานะเป็นเทวดารักษาพระบรมธาตุ และเปลี่ยนชื่อให้เป็นมงคล เป็น ท้าวจตุคาม และสถิตอยู่บนที่บานประตูทางขึ้นพระบรมธาตุ ในปี พ.ศ. 2530 เมื่อครั้งมีการตั้งดวงเมืองนครศรีธรรมราชขึ้นใหม่ จึงมีการอัญเชิญ จตุคามรามเทพ ไปสถิต ณ ที่นั้นเป็นต้นมา
ชาวนครศรีธรรมราช มีคติความเชื่อที่ว่า องค์จตุคาม คือ พระเสื้อเมือง จตุ หมายถึง สี่ คาม (คาม-มะ) เขตคาม หมายถึง อาณาเขตหรือบ้าน เมื่อรวมกันนัยความหมายที่มากกว่าความเป็นทิศทั้ง 4 ของบ้าน หรืออาณาเขต คือทิศทั้งสี่ ซึ่งหมายถึงทิศที่มีท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่ดูแลอยู่ ความหมายของจตุคามจึงเป็น ตำแหน่งของผู้เป็นใหญ่ทั้งสี่ทิศ มีท้าวจตุมหาราช ปกป้องคุ้มครองดูแล พระเสื้อเมืองจึงมีความหมายที่ควรเป็นตำแหน่ง ๆ หนึ่ง เพียงแต่ปราชญ์โบราณของเมืองสมมติขึ้นเป็นท้าวจตุคาม ผู้เป็นใหญ่ใน 4 ทิศ

ในการจัดสร้างรูปเคารพขององค์จตุคามรามเทพ เมื่อปี พ.ศ. 2530 เป็นครั้งแรกในรูปแบบพระผงสุริยัน-จันทรา ดวงตราพญาราหู มีแวดล้อมด้วยพระราหู 8 ตน ตรงกลางมีรูปของเทวรูปประทับนั่ง 2 เศียร 4 กร ทรงเครื่องอาวุธ และผู้สร้างในสมัยนั้นก็ให้ความหมายไว้ว่า คือรูปจำลองสมมติของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร เป็นตัวแทนขององค์จตุคามรามเทพ กษัตริย์แห่งกรุงศรีวิชัย

ในต้นปี พ.ศ. 2550 จตุคามรามเทพได้รับความนิยมอย่างยิ่ง จนกลายเป็นกระแสในสังคมไทย จากข่าวการพระราชทานเพลิงศพของขุนพันธรักษ์ราชเดช อดีตนายตำรวจมือปราบ ผู้ร่วมการจัดสร้างวัตถุมงคลจตุคามรามเทพรุ่นแรกขึ้นโดยมี พล.ต.ท. สรรเพชร ธรรมาธิกุล เป็นประธานในการจัดสร้าง ได้มีการสร้าง วัตถุมงคลจตุคามรามเทพ ขึ้นในวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ มีหลายรุ่น พระเกจิหลายองค์ปลุกเสก หลายคนพากันแย่งชิงจนเกิดเป็นเหตุให้ฆาตกรรมกันก็มี และผลจากกระแสนี้ส่งผลให้ วัตถุมงคลจตุคามรามเทพรุ่นแรก ที่ผลิตออกมาในปี พ.ศ. 2530 มีราคาพุ่งไปถึงกว่า 40 ล้านบาท จากเดิมที่มีราคาเพียง 49 บาทเท่านั้น
 

แพะหลวงพ่ออ่ำ วัดหนองกระบอก ระยอง

หนุมานหลวงพ่อสุ่น วัดศาลากุน

พุทธคุณ
เมตตามหานิยม และด้านมหาอุตม์ คงกระพันชาตรี 
การใช้หนุมานให้ได้ผลควรจะมีคาถากำกับให้ตั้งนะโม 3 จบ เเล้วว่า "โอม หะนุมานะ นะอย่าทำนะ" นอกจากนี้ยังมีคาถาอีกบทว่า 
"นะมัง เพลิง โมมังปากกระบอก ยะมิให้ออก อุดธังโธอุด ธังอัด อะสังวิสุโรปุสะพูพะ มะอะอุ โอมยะพุทธา ทะโยสตรี สตรี นิสังโห" 
แต่เวลามีเหตุการณ์คับขันให้ท่องเฉพาะหัวใจหนุมานว่า "หะ นุ มา นะ"

หนุมานหลวงพ่อสุ่น วัดศาลากุน เกาะเกร็ด จังหวัดนนทบุรี เป็นสุดยอดเครื่องรางของขลัง และเป็นหนึ่งในชุดเบญจภาคีเครื่องราง ที่เป็นสุดยอดของความหายากและหวงแหนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

หลวงพ่อสุ่นท่านชื่อ สุ่น นามสกุล ปานกล่ำ เป็นชาวปากเกร็ดโดยกำเนิด เกิดเมื่อประมาณ พ.ศ.2435 เมื่อบวชแล้วได้ฉายาว่า จันทโชติ แปลว่า รุ่งเรืองดุจจันทร์เพ็ญ ไม่ปรากฏนามพระอุปัชฌาย์อาจารย์ จำพรรษาอยู่ที่วัดศาลากุน ตั้งแต่หนุ่ม ปลูกต้นรัก และต้นพุดซ้อน ดูแลอย่างดี ตั้งแต่ยังไม่ได้เป็นสมภาร ด้วยการทำน้ำมนต์รดต้นไม้ทั้งสองเสมอมา เมื่อเป็นสมภารคลองวัด จึงให้ลูกศิษย์ขุดรากไม้รักและพุดซ้อนตากจนแห้ง ให้ช่างมีฝีมือแกะเป็นรูปหนุมานทรงเครื่องสวยงาม ศิลป์การแกะแบ่งเป็นหน้าโขนและหน้ากระบี่ วัสดุที่ใช้ในการสร้างมีทั้งไม้พุด ไม้รัก และงา หลวงพ่อสุ่นเรียนวิชาปลุกเสกหนุมาน จากพระนาคทัศน์ ซึ่งท่านเป็นต้นตำหรับการสร้างหนุมานที่ทรงไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ มีอานุภาพคุ้มครองป้องกันภัย เมตตามหานิยม เเก่ผู้ที่มีครอบครอง ลุงด้วง สุขทอง (เกิด พ.ศ.2461) บุตรชายของ นายปลิว สุขทอง อดีตมัคทายกวัดศาลากุน ซึ่งมีชีวิตอยู่ในสมัยเดียวกับหลวงพ่อสุ่น ได้บอกว่า การสร้างหนุมานของหลวงพ่อสุ่นสร้างประมาณปี พ.ศ.2468-2471 ทำแจกฟรีในงานบุญต่างๆ ของวัด 

การปลุกเสกหนุมานของหลวงพ่อสุ่นมีความเเปลกเเละพิศดารเป็นอย่างมาก คือ ก่อนที่ท่านจะทำการปลุกเสกหนุมาน ในตอนเช้าท่านจะให้ลูกศิษย์ไปตัดต้นไม้ที่มีหนามมาไว้มากๆ ส่วนมากจะเป็นต้นไผ่ ต้นพุทรา ต้นมะขามเทศ ช่วงค่ำท่านก็จะทำวัตรกับพระลูกวัดตามปกติ หลังจากทำวัตรเสร็จเเล้ว ท่านก็จะเข้าไปในกุฎิประมาณหนึ่งชั่วโมงท่านก็จะออกมา พร้อมกับอุ้มบาตรออกมาด้วย เเล้วเรียกลูกศิษย์ให้อุ้มบาตรเข้าไปในโบสถ์ (ท่านกำชับบอกลูกศิษย์ว่าห้ามเปิดบาตรเด็ดขาด ท่านพูดลอยๆว่า...ขี้เกียจจับ) เเล้วท่านก็จะนั่งทำวัตรอีกครั้ง เมื่อท่านทำวัตรเสร็จเเล้วท่านก็นั่งหันหลังให้พระประธานเเล้วเอาบาตรตั้งไว้ด้านหน้าจากนั้นก็จะให้ลูกศิษย์นำกิ่งไม้ที่มีหนามที่เตรียมไว้ สุมไปที่ตัวท่านให้เต็มจนหาทางเข้าออกไม่ได้ จากนั้นท่านก็จะให้ลูกศิษย์ออกจากโบสถ์เเล้วลั่นกลอนประตูโบสถ์ปิดไว้ห้ามผู้ใดเข้าออก ครั้นเวลาประมาณตี 4 ท่านก็จะเรียกลูกศิษย์ให้เข้าไปในโบสถ์ เพื่อเก็บหนุมานที่ติดอยู่กับกิ่งไม้เเละหนามที่สุมตัวท่าน ตัวไหนที่หล่นอยู่กับพื้นให้เเยกไว้ต่างหาก ท่านว่ายังใช้ไม่ได้เพราะปลุกไม่ขึ้น สิ่งที่คาใจในหมู่ลูกศิษย์ คือหนุมานขึ้นไปติดกับกิ่งไม้เเละหนาม ได้อย่างไร เเละที่สำคัญท่านออกมาจากกองกิ่งไม้เเละหนามที่สุมตัวท่านได้อย่างไร โดยทุกอย่างอยู่ในสภาพเดิมทั้งสิ้น นอกจากนี้แล้ว หลวงพ่อสุ่นยังเป็นหนึ่งในพระคณาจารย์ผู้ลงอักขระบนแผ่นทองแดงใช้เป็นมวลสารในการจัดสร้างเหรียญที่ระลึก วัดราชบพิธฯ ครั้งที่ 4 ในช่วงปลายชีวิตของท่านในปี พ.ศ.2481 หลวงพ่อสุ่น มรณภาพในปี พ.ศ.2482 สิริอายุประมาณ 78 ปี ในวันประชุมเพลิงหลวงพ่อสุ่น เมื่อ พ.ศ.2489 นั้น หลวงพ่อกลิ่น ได้เดินทางมาเป็นเจ้าภาพด้วยตัวท่านเอง 
 

มีดปากกาหลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ นครสวรรค์

มีดปากกาหลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ

พุทธคุณ ไว้คุ้มครองตัวด้านปราบวิญญาณร้ายกันภัยจากภูตผีปีศาจ สามารถกันและแก้สิ่งร้ายต่างๆ ได้ดีบูชาติดตัวจะมีทั้งมหาอํานาจ มีเมตตามหานิยม

หลวงพ่อเดิม ได้เริ่มสร้างมีดหมอยุคแรกๆ ตั้งแต่ก่อนปี พ.ศ.2470 โดยทําให้ลูกศิษย์ที่เป็นควาญช้าง เอาไว้ติดตัวเวลาเข้าป่าไปตัดไม้นํามาสร้างวัด ซึ่งยุคแรกๆ จะเป็นมีดขนาดใหญ่ และมีรูปแบบไม่แน่นอน จนเมื่อได้รับความนิยมเป็นที่ต้องการของลูกศิษย์ ท่านจึงสั่งทําจากช่างในพยุหะคีรี มีขนาดใหญ่และขนาดเล็กหลายๆ ขนาด แต่จะมีรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์เหมือนๆ กัน ที่สําคัญตัวใบมีดต้องทําจากเหล็กผสมโลหะที่สําคัญต่างๆ ส่วนด้ามมีดด้านในจะต้องบรรจุแผ่นยันต์ ผงวิเศษเพื่อความขลังในการเป็นมีดเทพศาสตราที่สมบูรณ์แบบ

หลวงพ่อท่านถือกําเนิดที่หมู่บ้านหนองโพ อําเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2403 ครอบครัวของท่านประกอบอาชีพเกษตรกรรม จนเมื่อท่านมีอายุครบบวชจึงได้อุปสมบทที่วัดเขาแก้วโดยมีหลวงพ่อแก้ว วัดอินทาราม เป็นพระอุปัชฌาย์และมีหลวงพ่อเทศ วัดสระทะเลกับหลวงพ่อเงิน วัดพระปรางค์เหลืองเป็นพระคู่สวดได้รับฉายาว่า “พุทธสโร” หลังจากที่บวชแล้วท่านได้อยู่ที่วัดหนองโพ และมีความสนใจในการศึกษาด้านพระธรรมควบคู่กับการนั่งกัมมัฏฐานศึกษาวิชาอาคม ซึ่งหลวงพ่อท่านจะไปเรียนวิชาจากพระเกจิอาจารย์ชื่อดังในสมัยนั้นหลายๆ องค์ เช่น เรียนการทํามีดหมอกับหลวงพ่อขํา วัดเขาแก้ว เรียนการทําน้ำมนต์กับหลวงพ่อเงิน วัดพระปรางค์เหลือง เรียนวิชาทําตระกรุดผ้ายันต์จากหลวงพ่อเทศ วัดสระทะเล ฯลฯ

หลวงพ่อท่านได้รับเป็นเจ้าอาวาสวัดหนองโพและได้สร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับวัดหนองโพและวัดต่างๆ อีกหลายสิบวัดจนท่านได้รับสมณศักดิ์ที่ “พระครูนิวาสธรรมขันธ์” ท่านยังเป็นที่เคารพรักจากลูกศิษย์จํานวนมากมายทั่วประเทศทั้งหลวงพ่อยังสร้างวัตถุมงคลหลายๆ อย่างได้เข้มขลังมีประสบการณ์เป็นจํานวนมาก จนถึงวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2494 ท่านได้มรณะภาพอย่างสงบที่วัดหนองโพ ท่ามกลางความเศร้าโศกเสียใจของบรรดาลูกศิษย์ และวัตถุมงคลที่ท่านได้ปลุกเสกเอาไว้นับเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์อันล้ําค่าสมนามหลวงพ่อที่ได้รับการยกย่องเป็นเทพเจ้าของชาวเมืองสี่แคว นครสวรรค์ การสร้างมีดหมอและการพิจารณา


ปิดตาหลวงพ่อทา

ปิตตาหลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก

พุทธคุณ
ด้านมหาอุดและคงกระพันชาตรี

หลวงพ่อทาได้สร้างวัตถุมงคลหลายประเภทเช่น เหรียญรุ่นแรก เหรียญรุ่นสอง และพระปิดตาเนื้อเมฆพัตรพิมพ์ต่างๆ เช่น พิมพ์เกลอเดี่ยว และ สามเกลอ เป็นต้น เกจิอาจารย์แถบลุ่มน้ำนครชัยศรีในอดีตไม่ว่าจะเป็น หลวงปู่นาควัดห้วยจระเข้ หลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก หลวงพ่อปล้อง วัดหลุมดิน และ หลวงพ่อดี วัดบ้านยาง ฯลฯ ล้วนสร้างพระปิดตาโบราณจากเนื้อโลหะศักดิ์สิทธิ์ "เมฆพัตร" คือ โลหะที่มีสีฟ้าดำ เงางาม เกิดจากการผสมโลหะหลายชนิดเข้าด้วยกัน แต่ส่วนประกอบหลัก คือตะกั่ว ว่ากันว่า พอตะกั่วหลอมละลาย ก็จะใช้โลหะดินทอง หรือ กำมะถัน ซัดเข้าไปทำให้เกิดการทำปฏิกิริยาทางเคมีทำให้โลหะออกมาเป็น "เมฆพัตร" นอกจากนั้นยังใส่ ปรอท ซึ่งเป็นโลหะหนักเข้าไปด้วย โดยปรอทจะช่วยทำให้เนื้อโลหะผสมวิ่งไปทั่วแม่พิมพ์ทำให้พระที่หล่อออกมาสวยงามและมีน้ำหนัก 

หลวงพ่อทา หรือ พระครูอุตรการบดี แห่งวัดพะเนียงแตก นครปฐม เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2379 ที่บ้านหนองเสือ อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ท่านได้ศึกษาที่วัดโพธาราม และบรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุ 15 ปี ภายหลังจึงได้อุปสมบท ณ วัดบ้านฆ้อง หลังบวชท่านได้ศึกษาพระธรรมวินัย ฝึกพระกัมมัฏฐาน และเรียนคาถาอาคมต่างๆ จากนั้นก็ออกธุดงค์หลายสิบปี 

จนเมื่ออายุ 51 ปี พ.ศ. 2430 ท่านได้เดินทางมาถึง ตำบลมาบแค จังหวัดนครปฐม ซึ่งเป็นที่รกร้าง ท่านได้ทราบว่า บริเวณนี้เคยมีความเจริญรุ่งเรือง และท่านก็ได้พบระฆังใบใหญ่พร้อมสมบัติโดย หลวงพ่อทาทราบถึงเจตนารมย์ของเจ้าของสมบัติ จึงนำสมบัติที่พบนั้นไปสร้างวัดตามเจตนารมย์ หลวงพ่อทาก็เป็นเถราจารย์องค์หนึ่งที่ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 เคารพนับถือและโปรดเกล้าให้เข้าเฝ้าอยู่เสมอ โดยในรัชสมัยของพระองค์ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์องค์พระปฐมเจดีย์ และหลวงพ่อทาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระครูอุตรการบดี ประจำทิศเหนือ เพื่อทำหน้าที่พิทักษ์องค์พระปฐมเจดีย์ หลวงพ่อทาได้ถึงแก่มรณภาพ ในปี พ.ศ. 2463 รวมสิริอายุได้ประมาณ 84 ปี 64 พรรษา ลูกศิษย์ของหลวงพ่อทาที่มี่ชื่อเสียงมีมากมายเช่น หลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง และ หลวงพ่อเต๋ คงทอง วัดสามง่าม เป็นต้น 

 

ไอ้ไข่ วัดเจดีย์ นครศรีธรรมราช

ไอ้ไข่ วัดเจดีย์ จ.นครศรีธรรมราช

พุทธคุณ
โชคลาภ และการค้าขาย มีโชคมีลาภเข้ามาอย่างไม่ขาดสาย ค้าขาย ประกอบธุรกิจให้มีความรุ่งเรืองเจริญก้าวหน้า ทำมาหากินรุ่งเรือง มีแต่ความร่ำรวย

คาถาบูชา
อิติ อิติ กุมาระไข่เจดีย์ จะมะหาเถโร ลาภะ ลาภา ภะวัณตุเม (9 จบ)

ตามตำนานเล่าสืบต่อกันวมา ย้อนกลับไปยังสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย หลวงพ่อทวดพระเถระผู้เปี่ยมด้วยญาณบารมี ได้เดินทางไปยังกรุงศรีอยุธยา ในการนั้นท่านได้นำพาเด็กชายผู้หนึ่ง อายุราว 9 ถึง 10 ขวบมาด้วย หมายใจให้คอยปรนนิบัติรับใช้ เมื่อเดินทางมาถึงยังฐานถิ่นวัดเจดีย์ ก็หยุดรั้งรอหมายพบเจอสหธรรมิกครั้งศึกษาพระธรรมยังเมืองนครศรีธรรมราช นามว่า ขรัวทอง ผู้เป็นสมภารวัด หมายสนทนาพาที ด้วยจิตอันเป็นไมตรีต่อกัน ดังมีหลักฐานนามถิ่น บ้านโพธิ์เสด็จ ไว้เป็นประจักษ์พยานว่ากาลหนึ่งพระโพธิญาณ (หลวงพ่อทวด) ได้เดินทางมายังธรรมสถานแห่งนี้

ด้วยญาณแห่งพระผู้มีบารมี จึงรับรู้ได้ว่าในภายภาคหน้า สถานที่แห่งนี้จะเป็นหลักสำคัญแห่งพระพุทธศาสนา จึงบอกเด็กชายผู้คอยติดตามว่า “เจ้าจงอยู่ที่นี้เถิด จะต่อเกิดผลดีศรีสดใสในภายภาคหน้านั้นต่อไป จะเป็นหลักชัยในทางธรรม” เด็กชายรับปากพระอาจารย์ แล้วตั้งสัตย์ปฎิญาณตามพระอาจารย์สั่ง หลวงพ่อทวด จึงฝากเด็กชายไว้กับ ขรัวทอง เด็กชายกลายเป็นเด็กวัดเจดีย์ คอยอยู่รับใช้สมภาร และดูแลวัดเจดีย์

ดังในตำนานเมืองนครศรีธรรมราช ได้กล่าวถึง เหตุการณ์ครั้นเจ้าพระยาคืนเมืองมีท้องตรามายังเมือง “อลวง” (ต.ฉลอง ในปัจจุบัน) มีบันทึกว่า “มาถึงเมืองอลวงแวะพักหนึ่งคืน นมัสการสมภารทอง มีศิษย์เกะกะชื่อไอ้ไข่เด็กวัด แต่ถึงจะเป็นเด็กเกะกะซุกซน แต่เด็กชายก็เปี่ยมด้วยอานุภาพพิเศษ แปลกแตกต่างจากเด็กทั่วไป ชอบช่วยเหลือผู้คน หากใครมีปัญหาที่หมดปัญญาที่จะแก้ไข เป็นต้องมาออกปาก (ไหว้วาน) ทุกคราไป จึงไม่มีใครเกลียดชังถึงจะซุกซนเกเร ด้วยเป็นเด็กที่จริงจังทั้งวาจา และจิตใจ รับปากใครแล้วเป็นต้องทำให้ได้ ถึงจะเป็นอันตรายก็ตาม ว่ากันว่าควายตัวไหนพยศ หากเด็กวัดจับหางติดจะไม่ปล่อยเป็นเด็ดขาด ถึงควายจะวิ่งอย่างไร จนควายตัวนั้นต้องละพยศหมดฤทธิ์
เมื่อเวลาล่วงผ่านไป ด้วยจิตอันแสดงถึงอานุภาพพิเศษ ก็รับรู้ได้ว่าพระอาจารย์ (หลวงพ่อทวด) กำลังจะเดินทางกลับจากกรุงศรีอยุธยา ด้วยกลัวว่าหากพระอาจารย์กลับมาถึง จะนำพาตนกลับสู่ถิ่นฐานที่จากมา ด้วยคำสั่งของพระอาจารย์ที่สั่งให้เฝ้าและดูแลรักษาวัดเจดีย์ และด้วยสัจจะวาจาที่ได้ให้ไว้ เด็กชายจึงเดินลงสระน้ำภายในวัดเป็นการปลดชีวิตตัวเอง ตามภาษาทางศาสตร์ เรียก การเสด็จ หมายถึงสละร่างเหลือไว้แต่ดวงจิตวิญญาณ ไว้คอยปกปักษ์รักษาวัดเจดีย์ สืบมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน
 


เอื้อเฟื้อภาพจาก วิทยา เสือปิดตา

ข้อมูลบางส่วนจาก wikipedia