แม็กกาซีนพระ บทความและสาระความรู้

ปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย ขอพร "การเงิน"สมใจหมาย ที่ ศาลครุฑ ถนนอัษฎางค์
8 กันยายน 2563    3,052

ศาลครุฑ

ตั้งอยู่ที่ ตรอกครุฑ ถนนอัษฎางค์ เขตพระนคร กรุงเทพฯ แผนที่

ศาลครุฑ

ศาลที่มีขนาดกระทัดรัด อยู่ในซอยตรอกครุฑ ริมคลองหลอด เป็นสถานที่ที่ผู้คนที่เคารพนับถือ และชาวบ้านในละแวกนั้นใช้เป็นที่พึ่งพาทางใจ เดิมเป็นครุฑไม้แกะสลัก สันนิษฐานว่าเป็นครุฑด้านหน้าหัวเรือรบ ลอยจากแม่น้ำมาติดที่คลองหลอดและไม่ไปไหน จนผู้คนเกิดความศรัทธาและอัญเชิญมาสักการะในซอย เมื่อเวลาผ่านไป ครุฑไม้ได้ถูกขโมย จึงมีการต้องสร้างองค์ครุฑขึ้นใหม่ ซึ่งเป็นองค์ปัจจุบันนี้ 
 

สำหรับการกราบไหว้ นิยมมาขอพรเรื่อง "การเงิน" ที่ศาลเจ้าพ่อครุฑ เชื่อกันว่าพญาครุฑเป็นพาหนะของเทพ มีหน้าที่ช่วยปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายทั้งปวง เครื่องไหว้มีธูป 5 ดอก พวงมาลัย และน้ำแดง จากนั้น ตั้งนะโม 3 จบ  และตามด้วย
คะรุปิจะ กิติมันตัง มะอะอุ
โอมพญาครุฑ รุจรุจแล้วรวย
นะได้เงิน นะได้ทอง นะได้ทรัพย์
นะเมตตา นะล้างอาถรรพ์ 
นะเจริญ นะมั่นคง อธิฐามิ

ใครที่บูชาองค์พญาครุฑแล้วกตัญญูต่อ บิดา-มารดา ผู้มีพระคุณ  ครูบาอาจารย์   ทำแต่ความดี หมั่นทำบุญสร้างกุศล องค์พญาครุฑจะส่งผลให้ประสบความสำเร็จ ดั่งที่หวังในทุกๆด้าน  จะร่ำรวยเงินทอง เป็นที่รักและเมตตาแก่ผู้พบเจอ

ศาลครุฑ

ครุฑ (สันสกฤต: गरुड) เป็นสัตว์กึ่งเทพในปกรณัมอินเดียและปรากฏในวรรณคดีสำคัญหลายเรื่อง เช่น มหากาพย์ มหาภารตะ เล่าว่า ครุฑเป็นพี่น้องกับนาคและทะเลาะกันจนเป็นศัตรู นอกจากนี้ ยังมีคัมภีร์ปุราณะที่ชื่อว่า ครุฑปุราณะ เป็นเรื่องเล่าพญาครุฑ

ตามคติไทยโบราณ เชื่อว่าครุฑเป็นพญาแห่งนกทั้งมวล และเป็นพาหนะของพระนารายณ์ ปกติอาศัยอยู่ที่วิมานฉิมพลี มีรูปเป็นครึ่งคนครึ่งนกอินทรี ได้รับพรให้เป็นอมตะ ไม่มีอาวุธใดทำลายลงได้ แม้กระทั่งสายฟ้าของพระอินทร์ก็ได้แต่เพียงทำให้ขนของครุฑหลุดร่วงลงมาเพียงเส้นหนึ่งเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ ครุฑจึงมีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า "สุบรรณ" ซึ่งหมายถึง "ขนวิเศษ"
ครุฑเป็นสัตว์ใหญ่ มีอานุภาพและพละกำลังมหาศาล แข็งแรง บินได้รวดเร็ว มีสติปัญญาเฉียบแหลม อ่อนน้อมถ่อมตน และมีสัมมาคารวะ

การใช้ครุฑเป็นตราสัญลักษณ์ ด้วยฤทธานุภาพของพญาครุฑ จึงได้มีการสร้างรูป ครุฑพ่าห์ (หรือ พระครุฑพ่าห์) หมายถึง ครุฑซึ่งเป็นพาหนะ เป็นรูปครุฑกางปีก และใช้เป็นสัญลักษณ์สำคัญเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ของไทยก็มีมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ด้วยว่าไทยเราได้รับลัทธิเทวราชของอินเดียที่ถือว่าพระมหากษัตริย์คืออวตารของพระนารายณ์ ดังนั้น ครุฑซึ่งเป็นผู้มีฤทธิ์มากและเป็นพาหนะของพระนารายณ์ จึงเป็นสัญลักษณ์แทนพระมหากษัตริย์ ดังที่ปรากฏอยู่ในดวงตราหรือพระราชลัญจกรประจำพระองค์ ประจำแผ่นดิน ประจำราชวงศ์ และประจำรัชกาล เป็นต้น

จากการที่ไทย ใช้ตราครุฑเป็นพระราชลัญจกรสำหรับประทับหนังสือราชการแผ่นดินที่เป็นพระบรมราชโองการ และใช้พระราชลัญจกรพระครุฑพ่าห์ประทับหนังสือราชการแผ่นดินมาแต่โบราณกาล ต่อมาจึงได้มีการใช้ ตราครุฑ เป็นหัวกระดาษของหนังสือของราชการทั่วไปด้วย เพื่อให้ทราบว่างานนั้นเป็นราชการ ส่วนรูปครุฑที่เป็นธงแทนองค์พระมหากษัตริย์นั้นเรียกว่า ธงมหาราชเป็นรูปครุฑสีแดงอยู่บนพื้นธงสีเหลือง เริ่มใช้ในสมัยรัชกาลที่ 4 ธงมหาราชนี้เมื่อเชิญขึ้นเหนือเสา ณ พระราชวังใดแสดงว่าพระมหากษัตริย์ประทับอยู่ ณ ที่นั้น

สำหรับครุฑที่ปรากฏอยู่ในขบวนเรือหลวงก็มีอยู่ 3 ลำคือเรือครุฑเหินเห็จ เป็นหัวโขนรูปพญาครุฑสีแดงยุดนาค เรือครุฑเตร็จไตรจักรเป็นหัวโขนรูปพญาครุฑสีชมพูยุดนาค และ เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 เป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ เป็นเรือที่สร้างขึ้นในรัชกาลปัจจุบัน

นอกเหนือจากการที่ตราครุฑปรากฏในส่วนราชการต่างๆแล้ว ในภาคเอกชนก็สามารถรับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้ตราครุฑหรือตราแผ่นดินในกิจการได้ด้วย โดยเริ่มมีมาแต่รัชกาลที่ 5 ซึ่งเดิมเป็นตราอาร์ม โดยมีข้อความประกอบว่า โดยได้รับพระบรมราชานุญาต ต่อมาในรัชกาลที่ 6 ได้เปลี่ยนตราแผ่นดินเป็นตราพระครุฑพ่าห์ การพระราชทานตรานี้ แต่เดิมถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่จะพระราชทานตามพระราชอัธยาศัย ผู้ได้รับนอกจากจะเป็นช่างหลวง เช่น ช่างทอง ช่างถ่ายรูป เป็นต้นแล้ว ก็มักจะเป็นผู้ประกอบกิจการค้ากับราชสำนัก และเป็นประโยชน์ต่อราชการงานแผ่นดิน

ศาลครุฑ


ข้อมูลจาก wikipedia