แม็กกาซีนพระ บทความและสาระความรู้

กราบพระพุทธสิหิงค์1ใน3ของประเทศ ไหว้พระธาตุประจำปีนักษัตรปีมะโรง ที่ วัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่
3 ตุลาคม 2563    1,255

วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร ตั้งอยู่ที่ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร

ตามประวัติ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร สร้างขึ้นในสมัยของพญาผายู กษัตริย์องค์ที่ 5 ในราชวงศ์มังราย ของเชียงใหม่ สร้างขึ้นพร้อมกับพระเจดีย์สูง 24 ศอก เพื่อใช้บรรจุอัฐิพระราชบิดาของพระองค์

วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร

ภายในวัดในส่วนของ วิหารลายคำ ประดิษฐาน พระสิงห์ หรือ พระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองเชียงใหม่
พระพุทธรูปโบราณหล่อด้วยสำริดหุ้มทอง ปางสมาธิ สูง 79 เซนติเมตร หน้าตักกว้าง 63 เซนติเมตร ที่มีเพียง 3 องค์ในประเทศ (อีก2องค์ อยู่ที่ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร จ.กรุงเทพฯ และ ศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช หอพระพุทธสิหิงค์ จ.นครศรีธรรมราช)

วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร


วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร
 

พระวิหารลายคำ สร้างขึ้นสมัยของพญาธรรมลังกาหรือพระเจ้าช้างเผือก ระหว่าง พ.ศ. 2358-2364 เป็นสถานที่ประดิษฐานของพระพุทธสิหิงค์ พระวิหารลายคำสร้างเป็นศิลปะล้านนากว้าง 8 เมตร ยาว 30 เมตร มีช่อฟ้า ใบระกา หลังคามุงกระเบื้อง ดินเผาที่มีความสวยงามมาก ได้รับรางวัลสถาปัตยกรรมดีเด่น มีลวดลายทองล่องชาดเทคนิคการฉลุลายปรากฏบนฝาผนังหลังพระประธาน และเสากลางวิหารและเสาระเบียงด้านหน้าพระวิหาร ตลอดถึงบางส่วนของโครงไม้ บนฝาผนังภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง เรื่อง สังข์ทองและสุวรรณหงส์ เขียนด้วยสีฝุ่นมีความงดงามมาก
วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร

 

นอกจากนี้ ภายในวัดยังมี พระบรมธาตุวัดพระสิงห์ องค์พระบรมธาตุเจดีย์ เป็นเจดีย์ทรงระฆัง โดยรูปแบบของเจดีย์สันนิษฐานว่า ได้รับอิทธิพลมาจากพระธาตุหริภุญชัย รอบองค์บุด้วยทองจังโก (ทองดอกบวบ ทองเหลือง ผสมทองแดง) สูง 25 วา ฐานสี่เหลี่ยมยาวด้านละ 16 วา 1 ศอก 6 นิ้ว โดยจะมีเจดีย์ขนาดเล็ก 4 องค์อยู่ที่ฐาน และยังมีที่มุมอีก 4 องค์ ซึ่งเป็นลักษณะที่แปลกกว่าพระธาตุเจดีย์องค์อื่น ๆ ในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่กล่าวว่า เป็นที่บรรจุพระเกศาธาตุ พญาผายูทรงสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1888 ต่อมาระหว่าง พ.ศ. 2101-2317เชียงใหม่ตกอยู่ในอำนาจของพม่า วัดพระสิงห์ ขณะนั้นมีสภาพเป็นวัดร้าง เสนาสนโบราณสถานอยู่ในสภาพเสื่อมโทรม มาถึง พ.ศ.2469 พระราชชายา เจ้าดารารัศมี เจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ และครูบาศรีวิชัย ได้นำประชาชนร่วมกันบูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะและเสริมสร้างพระธาตุเจดีย์ให้สูงใหญ่
 

สำหรับพระบรมธาตุวัดพระสิงห์เป็น พระธาตุประจำปีของคนเกิดปีมะโรง ตามความเชื่อของชาวล้านนา และ คนไทยทั่วไป หากมีโอกาส อยากให้คนเกิดปีมะโรงได้ไปกราบไหว้สักครั้ง เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง

วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร

คำบูชาพระธาตุ (ตั้งนะโม 3 จบ) 
อิติ ปะวะระสิหิงโค อุตตะมะยโสปิ เตโข ยัตถะ จิตโตโส สักกาโร อุปาโท สะกาละพุทธะสาสะธัง โชตะยันโตวะ ทีโป สุระนะเรหิ มะหิโต ธะระมาโนยะ พุทโธติ นะมามิ สิหิงคะพิมพัง สุวัณณาภิรัมมัง ลังกาชาตัง

วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร

อุโบสถ หรือพระอุโบสถสองสงฆ์ ตามหลักศิลาจารึกบอกว่า สร้างสมัยของพระเจ้ากาวิละพระเจ้ากาวิละและเจ้าอาวาสวัดพระสิงห์สมัยนั้น ได้ร่วมกันสร้างและจัดงานฉลองเมื่อ พ.ศ. 2355 พระอุโบสถเป็นสถาปัตยกรรมล้านนากว้าง 6 วา 10 นิ้ว ยาว 14 วา 1 ศอก มุงกระเบื้องดินเผามีช่อฟ้าใบระกา มีมุขทั้ง 2 ด้าน มีซุ้มประตูทางเข้าทั้ง 2 ด้านที่งดงาม รูปทรงครึ่งปูนครึ่งไม้ ด้านบนเป็นเครื่องไม้ทั้งหมด ตรงกลางพระอุโบสถมีมณฑปที่สวยงาม เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปพระเจ้าทองทิพย์จำลอง ปัจจุบันได้นำหลักศิลาจารึกบันทึกการสร้างพระอุโบสถ ซึ่งพิพิธภัณฑ์แห่งชาติเชียงใหม่ได้เก็บไว้ ได้นำมาไว้ในพระอุโบสถแล้ว เหตุที่เรียกว่าพระอุโบสถสองสงฆ์ เพราะเป็นการสร้างเพื่อจำลองการทำ สังฆกรรมของพระภิกษุสงฆ์และพระภิกษุณีสงฆ์

วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร

และมี “หอไตร” สร้างเป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ ผนังด้านนอกประดับด้วยทวยเทพปูนปั้น ทำเป็นรูปเทพพนมยืน บ้างก็เหาะประดับ อยู่โดยรอบ เป็นฝีมือช่างสมัยพระเมืองแก้ว ประมาณ พ.ศ. 2476 เจ้าแก้วนวรัฐได้ซ่อมแซมขึ้น ใหม่ที่ฐาน หอไตรปั้นเป็นลายลูกฟักลดบัว ภายในประดับด้วยรูปสัตว์หิมพานต์ เช่น นางเงือกมีปีก คชสีห์มีปีก กิเลน เป็นต้น และมีลายประจำยามลักษณะคล้ายลายสมัยราชวงศ์เหม็งของจีน


ข้อมูลจาก
dra.go.th
wikipedia.org