แม็กกาซีนพระ บทความและสาระความรู้

พระล้ำค่าน่าใช้ พระกริ่งใหญ่วัดชนะสงคราม สุดยอดพระมหามงคลแห่งยุค
14 ตุลาคม 2563    1,497

พระกริ่งใหญ่วัดชนะสงคราม สุดยอดพระมหามงคลแห่งยุค

โดย ลมใต้

 

ฉบับ 72 สิงหาคม 2551 พระล้ำค่าน่าใช้ พระกริ่งใหญ่วัดชนะสงคราม หน้า 19-1

 

ในบรรดาพระเครื่องที่ถูกสร้างขึ้นในเมืองไทย พระหล่อประเภทพระกรึ่งถือว่าเป็นพระเครื่องชั้นสูง เพราะกรรมวิธีการสร้างและการประกอบพิธีกรรมในการปลุกเสกนั้นค่อนข้างเข้มขลังและยุ่งยาก ผู้สร้างจําต้องมีบารมีสูง เพราะขั้นตอนการสร้างต้องใช้ทั้งเวลาและกําลังคนกําลังทรัพย์พอสมควรนับตั้งแต่การเตรียมเนื้อโลหะที่จะนํามาหลอมละลายเพื่อเป็นส่วนผสมในการเทหล่อพระ แผ่นโลหะต่างๆ ต้องนํามาลงอักขระยันต์ และปลุกเสกก่อนหลังจากนั้น จึงนําแผ่นโลหะต่างๆ เหล่านั้นมาหลอมแล้วเทขึ้นรูปเป็นพระกริ่งเสร็จแล้วก็จะมีการตกแต่งบ้าง จึงค่อยนําเข้าพิธีพุทธาภิเษกอีกครั้งหนึ่ง

พระกริ่งในเมืองไทยที่นิยมสุดเห็นจะได้แก่พระกริ่ง วัดสุทัศน์ ซึ่งสร้าง โดย สมเด็จพระสังฆราชแพ และพระกริ่งของท่านเจ้าคุณศรี (สนธิ์) ผู้เป็นลูกศิษย์ ก้นกุฏิของสมเด็จฯท่าน

นอกจากพระกริ่งวัดสุทัศน์แล้วยังมีพระกริ่งอีกสํานักหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามคือ พระกริ่งวัดชนะสงคราม ที่ถูกสร้างขึ้นเมื่อปี 2484 พระกริ่งรุ่นนี้ไม่ธรรมดานะครับ ปฐมบทในการคิดสร้างพระกริ่งรุ่นนี้เกิดจากความต้องการที่จะสร้างพระเพื่อแจกแก่ทหารหาญที่เข้าไปร่วมรบในสงครามอินโดจีนในคราวนั้น หลวงพ่อลับซึ่งท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดชนะสงครามขณะนั้น ได้สร้างพระกริ่ง พระชัยวัฒน์ และเสื้อยันต์ เพื่อแจกแก่ทหารและประชาชน ได้จัดทําพิธีปลุกเสกขึ้นที่วัดชนะสงคราม การดําเนินการจัดสร้างเป็นไปอย่างเข้มขลังและสมบูรณ์ ตรงตามพิธีการสร้างพระกริ่งในตําราโบราณดั้งเดิม โดยมีท่านเจ้าคุณศรี (สนธิ์) เป็นประธานในพิธีกรรมต่างๆ ตลอดจนถึงพิธีปลุกเสกพระครั้งนั้น ทางวัดได้รวบรวมแผ่นทองลงอักขระยันต์และตะกรุดจากบรรดาเกจิอาจารย์ที่เก่งวิชาอาคมจากทั่วประเทศ ในการหลอมโลหะเพื่อนําไปเทหล่อนั้น มีแผ่นทอง และตะกรุด หลายต่อหลายชิ้นที่ไม่ยอมหลอมละลาย ถึงกับต้องนิมนต์พระเกจิอาจารย์ร่วมกันเพ่งกระแสจิตกํากับในพิธีกันเลย เพื่อให้การดําเนินการหล่อเป็นไปอย่างราบรื่น

พระเกจิที่ได้ลงแผ่นทองในพิธีหล่อครั้งนั้นที่โด่งดัง และเป็นที่รู้จักกันก็มี สมเด็จพระสังฆราช (แพ), ท่านเจ้าคุณศรี(สนธิ์), หลวงพ่อจาด วัดบางกระเบา, หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก, หลวงพ่อคง วัดบางกระพ้อม, หลวงพ่ออี๋ วัดสัตหีบ, หลวงพ่อพริ้ง วัดบางปะกอก, หลวงปู่เผือก วัดกิ่งแก้ว, หลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ, หลวงพ่อขัน วัดนกกระจาบ, หลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง, หลวงพ่อเหลือ วัดสาวชะโงก, หลวงพ่อน้อย วัดศรีษะทอง, หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม, หลวงปู่กลิ่น วัดสะพานสูง, หลวงพ่อเปลี่ยน วัดใต้, หลวงพ่อเส้ง วัดกัลยาฯ, หลวงพ่อฉาย วัดพนังเชิง ฯลฯ เป็นต้น และยังมี อีกหลายต่อหลายองค์ล้วนแล้วแต่วิชาแก่กล้าทั้งสิ้น เท่าที่นํารายนามมาให้รู้กัน ก็ล้วนสุดยอดเกจิทั้งนั้นครับ

พิธีปลุกเสกถูกจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นเวลา 3 วัน 3 คืน โดยมีคณาจารย์ตามรายชื่อดังกล่าวข้างต้นร่วมกันเป็นประธานนั่งปรกสลับกันกับพระเถราจารย์รูปอื่นๆ จนกระทั่งเสร็จพิธีทางวัดจึงได้นําพระออกแจกจ่ายแก่บรรดาทหาร และ ประชาชนผู้ศรัทธา

พระกริ่งวัดชนะสงครามเป็นพระเนื้อทองผสมกระแสเนื้อ เหลืองแกมเขียวบางองค์ก็ออกกระแสเหลืองอมแดง แล้วแต่ส่วนผสม

พุทธคุณของพระกริ่งวัดชนะสงครามนั้นเด่นดังทั้งทางแคล้วคลาด อยู่ยงคงกระพัน พร้อมทั้งพุทธคุณเด่นอีกด้านคือทางสิริมงคล อํานวยสุขโชคลาภ และความเจริญก้าวหน้าทั้งทางการงานและเงินทอง เพราะคณาจารย์ที่มาลงอักขระ ยันต์และนั่งปรกปลุกเสกพระรุ่นนี้ล้วนแล้วแต่วิชาอาคมแก่กล้ากันหลากหลายสายทาง

โดยเฉพาะทางสายวัดสุทัศน์ หากใครเคยบูชาพระกริ่งสายนี้จะรู้ดีและประจักษ์แก่ใจว่ายอดเยี่ยมขนาดไหน เจริญรุ่งเรืองจริงๆ ครับ ส่วนด้านแคล้วคลาด คงกระพัน เอาแค่ชื่อ “จาด, จง, คง, อี๋” แค่นี้ก็ประกันคุณภาพทางด้านนี้แล้ว ว่ายอด

เรียกว่าบูชาพระกริ่งวัดชนะสงครามแต่องค์เดียวก็เต็มเปี่ยมด้วย สุดยอดพุทธคุณเท่าที่เราๆ ท่านๆ เคยพบเจอกันมาแล้วละครับ

 

ฉบับ 72 สิงหาคม 2551 พระล้ำค่าน่าใช้ พระกริ่งใหญ่วัดชนะสงคราม หน้า 19-1

 

เอื้อเฟื้อภาพโดย สุขเกษม ปาริชาติดุสิต

พระเครื่องล้ำค่า ปีที่ 6 ฉบับ 72 สิงหาคม 2551 หน้า 19