แม็กกาซีนพระ บทความและสาระความรู้

วัดศาลากุล ปากเกร็ด นนทบุรี กับตำนานของขลังที่โด่งดัง หนุมานหล่อพ่อสุ่น
12 พฤษภาคม 2564    5,649

วัดศาลากุล 
ตั้งอยู่ที่ หมู่ 3 บ้านศาลากุลใน ต.เกาะเกร็ด อ.ปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี

วัดศาลากุล ตั้งอยู่เกือบกลางเกาะเกร็ด ท้องที่หมู่ 3 บ้านศาลากุลใน  สร้างโดยเจ้าพระยารัตนาธิเบศน์(กุน) ตั้งแต่สมัยธนบุรี ต่อมาเมื่อตั้ง อ.ปากเกร็ด จึงเรียกเป็น เกาะเกร็ด การเดินทางไปยังวัดนี้ ถ้าหากข้ามเรือที่ท่าวัดกลางเกาะเกร็ด เมื่อขึ้นที่ท่าเกาะเกร็ดจะมีถนนไปถึงวัดนี้ได้ระยะทางประมาณ 1400 เมตร เดิมตั้งอยู่ริมแม่น้ำ เนื่องจากดินริมแม่น้ำงอกขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันนี้จึงอยู่เกือบกลางเกาะเกร็ด โบราณสถานของวัดล้วนสร้างขึ้นใหม่ คือ อุโบสถลักษณะทรงโบราณ 2 ชั้น ศาลาการเปรียญ หอสวดมนต์ เจดีย์และกุฏิสงฆ์ และยังมีโบราณวัตถุเก่า เช่น โต๊ะหมู่บูชาขนาดใหญ่ประดับมุก เครื่องแก้วเจียระไน และหีบศพประดับมุก
 

วัดศาลากุล วัดศาลากุน หลวงพ่อสุ่น ปากเกร็ด นนทบุรี

 

หลวงพ่อสุ่น จันทโชติ หรือ พระอธิการสุ่น

เดิมชื่อ “สุ่น” เป็นชาวเกาะเกร็ดโดยกำเนิด แต่ไม่มีการบันทึกประวัติของท่านเก็บไว้ ดูจากปีที่มรณภาพ และสิริอายุประมาณการว่าน่าจะเกิดในราวปี พ.ศ.2403-2404 เมื่ออุปสมบทได้ฉายา “จันทโชติ” ย้อนไปเมื่อครั้งยังเป็นพระลูกวัด ปลูกต้นไม้ไว้ในบริเวณกุฏิ 2 ชนิด คือ “ต้นรักซ้อนและต้นพุดซ้อน” และหมั่นดูแลรดน้ำ โดยนำน้ำสะอาดมาทำเป็นน้ำมนต์เพื่อรดต้นไม้ทั้งสองทุกครั้งจนเจริญเติบโต กระทั่งเมื่อท่านได้รับตำแหน่งเจ้าอาวาส จึงเข้าใจกระจ่างว่า เหตุใดท่านจึงให้ความสนใจดูแลต้นไม้ทั้งสองนี้เป็นพิเศษ เมื่อต้นไม้เจริญเติบโตได้ที่ ท่านจึงดูฤกษ์ยามทำพิธีพลีและสังเวยก่อนแล้วลงมือขุดด้วยตนเองจากนั้นนำไปตากแดดจนแห้ง แล้วให้ช่างแกะเป็นรูปหนุมาน รวบรวมห่อด้วยผ้าขาวใส่บาตรเพื่อปลุกเสกในกุฏิ จนถึงวันเสาร์ ซึ่งถือว่าเป็นวันแรงงาน ท่านก็จะเข้าไปปลุกเสกในอุโบสถ โดยจะนั่งบริกรรมบนศาสตราวุธต่างๆที่นำมากองรวมกัน หนุมานจะกระโดดโลดเต้นอยู่ในบาตรจนท่านเห็นว่าขึ้นแล้ว จึงเก็บไว้แจกจ่ายบรรดาลูกศิษย์ลูกหา และผู้ถวายปัจจัยในการบูรณปฏิสังขรณ์วัด นอกจากหนุมานแกะที่ทำจากต้นรักซ้อนและต้นพุดซ้อนแล้วท่านยังแกะหนุมานจาก “งาช้าง” ด้วย แต่สร้างในรุ่นหลัง ไม่ค่อยได้พบเห็นกันมากนักและราคาค่อนข้างสูงมาก

 

วัดศาลากุล วัดศาลากุน หลวงพ่อสุ่น ปากเกร็ด นนทบุรี

ภาพ รูปหล่อ หลวงพ่อสุ่น จันทโชติ

 

หนุมานแกะหลวงพ่อสุ่น

มีคำกล่าวไว้ว่า “เขี้ยวเสือ ต้องยกให้ หลวงพ่อปาน ส่วน หนุมาน ก็ต้อง หลวงพ่อสุ่น” หนุมานแกะหลวงพ่อสุ่นแบ่งได้เป็น 2 พิมพ์ คือ พิมพ์หน้าโขนและพิมพ์หน้ากระบี่ “พิมพ์หน้าโขน” นั้น เรียกกันว่า “หนุมานทรงเครื่อง” คือจะเก็บรายละเอียดต่างๆจนครบ มีความสวยงามและแลดูเข้มขลังยิ่งนัก ส่วน ”พิมพ์หน้ากระบี่” จะเป็นแบบเรียบง่าย ไม่ค่อยมีเครื่องเครา แต่ก็คงความเข้มขลังงดงามในอีกรูปแบบหนึ่ง โดยมีคาถากำกับหนุมาน เริ่มด้วย

ตั้งนะโม 3 จบ แล้วว่า “นะมัง เพลิง โมมัง ปากกระบอก ยะ มิให้ออก
อุดธังโธอุด ธังอัด อะสังวิสุ โรปุสะพูพะ มะอะอุ โอมยะพุทธา ทะโยสตรี สตรี นิสังโห”

 

 วัดศาลากุล วัดศาลากุน หลวงพ่อสุ่น ปากเกร็ด นนทบุรี

ภาพ หนุมานหน้าโบสถ์ วัดศาลากุล ปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี

 

วัดศาลากุล วัดศาลากุน หลวงพ่อสุ่น ปากเกร็ด นนทบุรี

ภาพ ยันต์หลวงพ่อสุ่น