แม็กกาซีนพระ บทความและสาระความรู้

พระร่วงโรจนฤทธิ์ ศรีอินทราทิตย์ ธรรโมภาส มหาวชิราวุธ ราชบูชนิยบพิตร : วัดพระปฐมเจดีย์ฯ จ.นครปฐม
1 มิถุนายน 2563    1,068

พระร่วงโรจนฤทธิ์ ศรีอินทราทิตย์ ธรรโมภาส มหาวชิราวุธ ราชบูชนิยบพิตร 

​​​​​►วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร จังหวัดนครปฐม
 



หลวงพ่อพระร่วง หรือ พระร่วงโรจนฤทธิ์ หรือ พระร่วงโรจนฤทธิ์ ศรีอินทราทิตย์ ธรรโมภาส มหาวชิราวุธ ราชบูชนิยบพิตร 

เป็นพระพุทธรูปปางห้ามญาติ ศิลปะสุโขทัย ประดิษฐานที่พระวิหารด้านทิศเหนือของพระปฐมเจดีย์ 
ประทับยืนอยู่บนฐาน โลหะทองเหลืองลายบัวคว่ำบัวหงาย ทำวงพระพักตร์ตามยาว พระหนุเสี้ยมนิ้วพระหัตถ์ และพระบาทไม่เสมอกัน ห้อยพระหัตถ์ซ้ายลงข้างพระวรกาย แบฝ่าพระหัตถ์ขวายกตั้งขึ้น ยื่นออกไปข้างหน้าระดับพระอุระ เป็นกิริยาห้าม ห่มจีวรบางคลุม แนบติดพระวรกาย บ่ายพระพักตร์สู่ทิศเหนือ ทำด้วยโลหะทองเหลือง หนัก 100 หาบ
องค์พระสูงแต่ พระบาท ถึง พระเกศ 12 ศอก 4 นิ้ว (7.42 เมตร)

ประวัติ
พ.ศ. 2451 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จประพาสหัวเมืองเหนือ ได้ทอดพระเนตรพระพุทธรูปเก่าแก่หลายองค์ โดยเฉพาะองค์หนึ่งที่เมืองศรีสัชนาลัย มีพุทธลักษณะงดงามต้องพระราชหฤทัย แต่องค์พระชำรุดเสียหายมาก ยังคงเหลืออยู่แต่พระเศียรกับพระหัตถ์ข้างหนึ่งและพระบาท พอสันนิษฐานได้ว่าเป็นปางห้ามญาติ จึงโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญลงมากรุงเทพฯ

พ.ศ. 2454 จึงโปรดเกล้าฯ หล่อปฏิสังขรณ์ และดำเนินการจัดหาช่างทำการปั้นหุ่นสถาปนาขึ้นให้บริบูรณ์เต็มองค์พระพุทธรูป

พ.ศ. 2457 อัญเชิญออกจากกรุงเทพฯ ไปประดิษฐานยังพระวิหารพระปฐมเจดีย์

พ.ศ. 2466 ถวายพระนามพระพุทธรูปองค์นี้ว่า "พระร่วงโรจน์ฤทธิ์ ศรีอินทราทิตย์ธรรโมภาส มหาวชิราวุธราชบูชนิยบพิตร

พ.ศ. 2468 รัชกาลที่ 7 ได้โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญ พระบรมราชสรีรางคาร พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว บรรจุ ณ วัดพระปฐมเจดีย์


พุทธลักษณะ
เมื่อมองทางด้านตรงพระพักตร์ ก็จะเห็นว่ามีพระพุทธลักษณะงดงามสม่ำเสมอ แต่ถ้ามองทางด้านข้างทั้งเบื้องขวาและซ้ายแล้ว จะเห็นว่าพระอุทรพลุ้ยออกมา สืบเนื่องมาจาก เมื่อการหล่อหลอมองค์พระพุทธรูปครั้งแรกได้สำเร็จลงแล้ว พนักงานจึงได้เข้าเฝ้า กราบบังคมทูลในหลวง รัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จทอดพระเนตร แต่ปรากฏว่าไม่เป็นที่ประสบพระราชหฤทัย ต่อมานายช่างทราบถึง พระราชประสงค์อันแท้จริง จึงหล่อให้พระอุทรพลุ้ยยื่นออกมาเหมือนคนอ้วน และใกล้จะลงพุงต่างจากครั้งแรก ซึ่งหล่อตรงพระอุทรแบบธรรมดาเท่านั้น ครั้นหล่อเรียบร้อยแล้ว จึงเข้าเฝ้ากราบบังคมทูลทอดพระเนตร คราวนี้ปรากฏว่าในหลวงทรงพอพระทัยเป็นอย่างมาก ถึงออกพระโอษฐ์ตรัสชมความสามารถในเชิงฝีมือของนายช่าง ทั้งนี้พระองค์มีพระราชประสงค์ที่จะให้พสกนิกรทราบว่า พระพุทธรูปองค์นี้พระองค์ทรงสร้างและทรงฝากอนุสาวรีย์ที่พระอุทร เนื่องด้วยพระองค์ทรงมีพระอุทรสมบูรณ์เป็นพิเศษ 

 

ความเชื่อ

มีความเชื่อกันว่าพระร่วงโรจนฤทธิ์ ชอบลูกปืน โดยต้องแก้บนด้วยการยิงปืน แต่ต่อมาเป็นเรื่องผิดกฎหมาย จึงใช้จุดประทัดแทน และอีกอย่างที่โปรด (ตามความเชื่อของชาวบ้าน) คือ ไข่ต้ม และไม่ใช่ไข่ต้มธรรมดาต้มสุกแล้วต้องชุบสีแดงที่เปลือกไข่แล้ว ก่อนนำมาแก้บน

คำกล่าวบูชา 

"ข้าพระพุทธเจ้า ขอน้อมเกล้าวันทาพระร่วงโรจนฤทธิ์พระองค์นี้ ซึ่งเป็นที่นำบุญมาให้แก่ข้าพระพุทธเจ้า ผู้นมัสการอยู่ แม้พระปฐมเจดีย์ใหญ่ใด 
ซึ่งเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุและเป็นที่ประดิษฐานองค์พระร่วงโรจนฤทธิ์ ซึ่งมีปาฏิหาริย์ไม่น้อย งดงามดุจพระจันทร์ในยามราตรี 

ข้าพระพุทธเจ้า ขอน้อมเกล้าวันทาพระปฐมเจดีย์นี้ ซึ่งเป็นที่นำบุญมาให้แก่ผู้ทัศนาอยู่เสมอ ข้าพระพุทธเจ้าขอนมัสการพระร่วงโรจนฤทธิ์ พระบรมสารีริกธาตุ 
และองค์พระปฐมเจดีย์ที่ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งควรนมัสการอยู่โดยส่วนเดียว ด้วยเครื่องสักการะคือดอกไม้ไฟอันตั้งอยู่ ณ ทิศ ทั้งสี่ ในบริเวณองค์พระปฐมเจดีย์ ได้แล้วซึ่งบุญอันใด 

ด้วยอานุภาพแห่งบุญนั้น ขอให้ข้าพเจ้าจงมีความสุข เป็นผู้ ไม่มีเวร ปราศจากอันตราย เจริญงอก งามไพบูลย์ในธรรมเป็นนิตย์ เทอญ"


 

ข้อมูลบางส่วนจาก wikipedia.org