แม็กกาซีนพระ บทความและสาระความรู้

ต้นกำเนิดพระผงสุพรรณ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ สุพรรณบุรี
16 มิถุนายน 2563    1,654

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ สุพรรณบุรี ตั้งอยู่ที่ตำบลรั้วใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี

เดิมเป็นวัดสำคัญศูนย์กลางของเมืองโบราณสุพรรณบุรีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ก่อนถูกทิ้งร้างไปช่วงระยะเวลาหนึ่งเมื่อคราวสงครามเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ เมื่อพุทธศักราช ๒๓๑๐ จากนั้นจึงมีการบูรณปฏิสังขรณ์ใหม่อีกครั้งในสมัยรัตนโกสินทร์





ประวัติการสร้างวัดวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ สุพรรณบุรี

ปรากฏในจารึกบนแผ่นลานทองที่พบจากกรุพระปรางค์ และยอดนภศูล เมื่อพุทธศักราช ๒๔๕๖ ข้อความในจารึกระบุถึงการสร้างพระสถูป(องค์พระปรางค์)ของพระมหากษัตริย์ และการปฏิสังขรณ์โดยพระราชโอรสในสมัยต่อมา ซึ่งนักวิชาการมีความเห็นว่าพระมหากษัตริย์ ผู้ทรงสร้างอาจหมายถึง สมเด็จพระนครินทราธิราช หรืออาจหมายถึง สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ (เจ้าสามพระยา) จึงนำไปสู่ข้อสันนิษฐานว่า วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ สุพรรณบุรี สถาปนาขึ้นช่วงต้นกรุงศรีอยุธยา (พุทธศตวรรษที่ ๒๐) ระหว่างรัชกาลใดรัชกาลหนึ่งดังกล่าว



แผนผังสถาปัตยกรรมวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ สุพรรณบุรี ประกอบไปด้วย

เจดีย์ทรงปรางค์เป็นประธานของวัด ด้านข้างมีปีกปรางค์ หรือปรางค์ขนาดเล็กขนาบปรางค์ประธานทั้งสองข้าง ทำระเบียงคดล้อมอยู่โดยรอบ ด้านนอกระเบียงคดมีวิหารหลวงอยู่ด้านหน้าทางทิศตะวันออกและอุโบสถอยู่ด้านหลังทางทิศตะวันตก โดยสร้างอยู่ในแนวแกนเดียวกับปรางค์ประธาน ตามความนิยมในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น นอกระเบียงคดยังมีวิหารราย และเจดีย์รายอีกหลายองค์อยู่โดยรอบ








กรมศิลปากร ประกาศขึ้นทะเบียนวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ สุพรรณบุรี เป็นโบราณสถานสำคัญสำหรับชาติ ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๒ หน้า ๓๗๑๐ วันที่ ๘ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๗๘ หลังจากนั้นได้มีการดำเนินงานขุดศึกษาทางโบราณคดี และบูรณะโบราณสถานบางส่วนเป็นระยะจนเมื่อพุทธศักราช ๒๕๕๕ สำนักศิลปากรที่ ๒ สุพรรณบุรี ได้เริ่มดำเนินงานขุดศึกษาทางโบราณคดีอย่างต่อเนื่องอีกครั้ง พร้อมทั้งบูรณะโบราณสถาน และปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์จนแล้วเสร็จเมื่อพุทธศักราช ๒๕๖๒