แม็กกาซีนพระ บทความและสาระความรู้

พระภาวนาโกศลเถระ (หลวงปู่เอี่ยม) วัดหนัง พระเถราจารย์ยุคเก่าที่อยู่ในใจนักนิยมสะสมพระเครื่องทั่วประเทศตลอดมา ด้วยประสบการณ์อภินิหารในพุทธคุณวัตถุมงคลของท่าน
18 มีนาคม 2563    3,194

ท่านเจ้าคุณเฒ่า หลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง

โดย ศาล มรดกไทย

 


พระภาวนาโกศลเถระ (หลวงปู่เอี่ยม) วัดหนัง ท่านเป็นพระเถราจารย์ยุคเก่าที่อยู่ในใจนักนิยมสะสมพระเครื่องทั่วประเทศตลอดมา ด้วยประสบการณ์อภินิหารในพุทธคุณวัตถุมงคลของท่านทุกๆชนิดที่ผ่านการปลุกเสกจากหลวงปู่ไม่ว่าจะเป็นเหรียญรูปเหมือน พระชัยวัฒน์ พระปิดตาทุกๆพิมพ์ เครื่องรางของขลังประเภทหมากทุย ตระกรุด ล้วนได้รับความนิยมมีราคาสูงและหาได้ยากในยุคปัจจุบัน ที่สําคัญท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ที่พระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่5) ทรงในความนับถือเป็นอย่างสูงทั้งยังเดินทางมาหาหลวงปู่เอี่ยมที่วัดบ่อยๆ และทรงพระราชทานพัดยศงาสานโดยเป็น พัดยศที่พระราชทานสําหรับพระราชาคณะที่ทรงคุณวุฒิทางฝ่ายวิปัสสนาธุระซึ่งมีพระภิกษุในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์เพียงไม่กี่รูปที่จะได้รับ แสดงถึงความสามารถ เชี่ยวชาญในพระเวทย์วิชาอาคมของหลวงปู่เอี่ยมเป็นอย่างยิ่ง
 
หลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง

ประวัติหลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง

หลวงปู่เอี่ยมท่านเกิดในยุคสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) เมื่อปีพ.ศ. 2375 ที่บ้านย่านบางขุนเทียน ฝั่งธนบุรี ในวัยเยาว์ตั้งแต่อายุ 9 ขวบ บิดามารดาได้พาท่านไปฝากเรียนเขียนอ่านกับหลวงปู่รอด ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดหนังในสมัยนั้น (ต่อมาได้ย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสวัดนางนองและวัดโคนอน ตามลําดับ) เมื่อเติบโตขึ้นท่านได้บรรพชาเป็นสามเณรและได้เล่าเรียนศึกษาทางพระพุทธศาสนา จนเมื่อมีอายุได้19ปี ในปีพ.ศ.2394 ได้ลองเข้าสอบแปลปริยัติธรรม ที่ท้องสนามหลวง แต่ท่านสอบไม่ผ่านท่านจึงได้ลาสิกขาบทกลับมาอยู่บ้าน และได้ช่วยงานไร่สวนที่บ้านอยู่ระยะหนึ่ง 

เมื่อถึงปีพ.ศ.2397 ท่านมีอายุครบ 22 ปี ท่านได้เข้าอุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดราชโอรส มีพระสุธรรมเทพเถระ (เกิด) วัดราชโอรส เป็นพระอุปัชฌาย์ พระธรรมเจดีย์ (จีน) วัดราชโอรสและพระภาวนาโกศลเถระ (รอด)วัดนางนอง เป็นคู่สวดพระกรรมวาจาจารย์ เมื่อเป็นพระภิกษุสงฆ์แล้วท่านได้มาอยู่กับ หลวงปู่รอด อาจารย์ที่ได้สั่งสอนวิชาต่างๆให้กับท่านตั้งแต่ยังเด็กๆ ตลอดเวลาท่านได้อยู่ปรนนิบัติรับใช้หลวงปู่รอดด้วยความเคารพจนเมื่อ หลวงปู่รอดได้ถูกถอดยศสมณศักดิ์และได้ย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสวัดโคนอน หลวงปู่เอี่ยมท่านก็ได้ย้ายตามไปรับใช้หลวงปู่รอด ทําให้หลวงปู่รอดซึ่งท่านเป็นพระที่เชี่ยวชาญในวิชาอาคมต่างๆ เป็นอย่างมาก(เล่าสืบกันมาว่าท่านสามารถล่องหนหายตัว เดินบนใบบัวไม่จมน้ำ ฯลฯ) และวิชาต่างๆเหล่านี้ท่านได้สั่งสอนให้กับ หลวงปู่เอี่ยม (มีผู้เคยเห็นหลวงปู่เอี่ยมสมัยที่ย้ายมาอยู่วัดหนัง ท่านสามารถแปลงร่างเป็นงูใหญ่ หรือ เสกหัวปลี่ให้เป็นกระต่ายได้ ฯลฯ) หลวงปู่รอดท่านจึงถ่ายทอดวิชาต่างให้หลวงปู่เอี่ยมจนหมดสิ้น 

เมื่อหลวงปู่รอดท่านได้มรณภาพลง หลวงปู่เอี่ยมท่านจึงได้เป็นเจ้าอาวาสวัดโคนอน ต่อจากอาจารย์ของท่าน ตามประวัติหลวงปู่เอี่ยม ท่านมีชื่อเสียงทางวิชาอาคม ตั้งแต่สมัยที่ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดโคนอน และมีลูกศิษย์ที่เคารพนับถือท่านเป็นจํานวนมาก (ท่านได้สร้างพระปิดตาแจกตั้งแต่เป็นเจ้าอาวาสวัดโคนอน และสร้างแจกมากตอนที่ประเทศไทยเกิดเหตุการณ์ ที่เรือรบประเทศฝรั่งเศส เข้ามาปิดอ่าวไทย เมื่อปีพ.ศ.2436 โดยเป็นพระเนื้อชินตะกั่วเป็นส่วนมาก) 

ในปี พ.ศ.2441 วัดหนังราชวรวิหารได้มีสภาพชํารุด ทรุดโทรม เพราะขาดเจ้าอาวาสในหลวงรัชกาลที่ 5 ท่านได้ขอให้สมเด็จพระวันรัต (แดง) วัดสุทัศน์เทพวราราม หาพระที่มีความสามารถมาปกครองวัดหนัง และสมเด็จพระวันรัตท่านได้เลือกพระอธิการเอี่ยม เจ้าอาวาสวัดโคนอน มาเป็นเจ้าอาวาสวัดหนัง และได้พระราชทานสมณศักดิ์เป็น “พระครูศีลคุณธราจารย์” หลังจากนั้นอีกหนึ่งปีหลวงปู่เอี่ยมได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่ “พระภาวนาโกศลเถระ” 

เหตุที่ได้เลื่อนสมณศักดิ์โดยเร็วเกิดจากที่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวท่านต้องเดินทางไปต่างประเทศและก่อนเดินทางท่านได้ให้สมเด็จพระวันรัต(แดง) นำพระครูศีลคุณธราจารย์(เอี่ยม)วัดหนังมาถวายคำ พยากรณ์และเมื่อรัชกาลที่ 5 เดินทางไปต่างประเทศ จนเดินทางกลับมาอย่างปลอดภัย และทุกเหตุการณ์เป็นไปตามที่หลวงปู่เอี่ยมถวายคำพยากรณ์ไว้ ในหลวงท่านจึงให้ความเคารพเลื่อมใสหลวงปู่เอื่ยมเป็นอย่างมาก และได้เดินทางมาหาที่วัด มอบของที่ระลึก ทั้งยังได้ช่วยถวายเงินให้หลวงปู่บูรณะวัดหนังที่ชำรุดทรุดโทรม จนกลับมาเจริญรุ่งเรืองดังเดิม ตลอดเวลาในยุคสมัยแผ่นดินของในหลวงรัชกาลที่ 5 เวลาที่มีงานสำคัญในพระราชวังจะต้องนิมนต์หลวงปู่เอี่ยมเข้าไปด้วยทุกครั้ง เรียกได้ว่าตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ประชาชนชาวไทยที่เคารพในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) มักจะเคารพนับถือพระภาวนาโกศลเถระ (หลวงปู่เอี่ยม) วัดหนังควบคู่ไปด้วย 

ตลอดเวลาที่หลวงปู่เอี่ยมปกครองวัดหนังท่านได้สร้าง ความเจริญรุ่งเรืองมีลูกศิษย์เป็นจำนวนมากทั้งยังมีพระภิกษุสงฆ์มาขอร่ำเรียนวิชาอาคมกับท่านจนต่อมามีชื่อเสียงหลายๆ รูป เมื่อถึงปี พ.ศ.2469 หลวงปู่ท่านได้มรณภาพอย่างสงบที่วัดหนัง ในวันที่ 26 เมษายน รวมศิริอายุได้ 94 ปี 72 พรรษา และได้จัดให้มีงานพระราชทานเพลิงศพ ใน พ.ศ.2470 ที่วัดหนังราชวรวิหาร อย่างยิ่งใหญ่

หลวงปู่เอี่ยมวัดหนัง

วัตถุมงคลหลวงปู่เอี่ยม


หลวงปู่ท่านได้สร้างวัตถุมงคลไว้หลายรูปแบบล้วนได้รับความนิยมแบ่งเป็นแต่ละประเภทดังนี้

1. เหรียญรูปเหมือนตัวท่าน สร้างครั้งแรกในปี พ.ศ.2567 เป็นรูปทรงเสมา ด้านหน้าเป็นรูปเหมือนหลวงปู่นั่งสมาธิด้านหลังเป็นยันต์แบบยันต์สี่แจกแก่ผู้บริจาคเงินสมทบทุนสร้างศาลาการเปรียญมีเนื้อทองคำ เงิน และทองแดงรวมกันแล้วไม่น่าเกิน 3000 เหรียญ ครั้งที่สองสร้างในปี พ.ศ.2469 ก่อนหลวงปู่มรณภาพได้สามเดือนเป็นเหรียญเสมารูปหลวงปู่สมาธิด้านหลังเป็นยันต์ห้ามีเพียงเนื้อสัมฤทธิ์อย่างเดียวจำนวน 1000 เหรียญ

2. พระชัยวัฒน์ หลวงปู่ท่านได้สร้างตั้งแต่ท่านอยู่วัดโคนอนและเมื่อย้ายมาวัดหนังท่านก็ยังได้สร้างอีกเป็นบางครั้งๆละจำนวนไม่มาก เอกลักษณ์คือจะเป็นพระนั่งขัดสมาธิเพชรมีสร้อยประคำรอบคอและใต้ฐานมักเจาะหรือคว้านเป็นรูเพื่อบรรจุกระดาษสาเขียนยันต์และอุดด้วยชันนะโรงเป็นสำคัญมีทั้งเนื้อสัมฤทธิ์ และเนื้อทองเหลืองผสม เรียกว่ารุ่นโคนต้นจันทน์กับรุ่นสร้างเขื่อนแบ่งเป็นพิมพ์เขื่อนใหญ่(เบ้าแตก) และพิมพ์เขื่อนเล็ก

3. พระปิดตา สำหรับพระปิดตาท่านได้สร้างเอาไว้เป็นจำนวนมากหลากหลายรูปแบบล้วนเป็นที่ต้องการ และได้รับความนิยมเราเพราะตั้งแต่สมัยอดีตมีผู้ได้รับพระปิดตาของท่านและนำมาทดลองยิงด้วยปืนแล้วกระสุนไม่ออกเป็นที่เล่าขานกันมาเนิ่นนาน ส่วนมากพระปิดตาของท่านมีหลากหลายรูปแบบเพราะท่านสร้างตั้งแต่อยู่วัดโคนอนจนเมื่อมาอยู่วัดหนังยังคงสร้างแจกในหลายๆครั้ง มีทั้งเนื้อไม้แกะ เนื้อผงหัวบานเย็น เนื้อสัมฤทธิ์ เนื้อชินตะกั่ว แบ่งเป็นพิมพ์ที่นิยมเช่นพิมพ์ยันต์ยุ่งพิมพ์ข้าวตอกแตก พิมพ์สังฆาฎิ พิมพ์นะหัวเข่า ฯลฯ

4. เครื่องรางของขลัง ที่ขึ้นชื่อคือตะกรุด และหมากทุย สำหรับตะกรุดจะมีทั้งเนื้อทองคำ เงิน ทองแดงและชินตะกั่วปัจจุบันอาจพิจารณาได้ยาก ด้านหมากทุยของท่านนับเป็นของพิเศษที่สร้างได้ยากขั้นตอนต้องครบถ้วนตั้งแต่การหาลูกหมากจนถึงการเก็บและนำมากว้านข้างในบรรจุกระดาษยันต์ สุดท้ายปิดทับอุดด้วยขันนะโรงแล้วจึงนำไปถักเชือกจุ่มรัก ปัจจุบันหมากทุยลูกที่เก่าจัดตัวจริงถึงยุคเป็นที่ต้องการและมีราคาสูง
 
หลวงปู่เอี่ยมวัดหนัง

พระเครื่องและเครื่องรางของขลังของท่านเจ้าคุณเฒ่าหลวงปู่เอี่ยม วัดหนังเป็นที่เชื่อถือมีชื่อเสียงมานานตั้งแต่สมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่จวบจนปัจจุบันนี้ยังเป็นที่ต้องการของผู้ที่เคารพนับถือ และนับวันจนมีสนนราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ ผู้เขียนเติบโตมาตั้งแต่เด็กๆในย่านวัดหนังได้ยินสรรพคุณในพระเครื่องของท่านทั้งทางมหาอุด คงกระพันชาตรี เมตตามหานิยม จากคนใกล้ชิด จากรุ่นปู่หรือบิดาของเพื่อนๆที่เป็นนักเลงเก่าตัวจริงในสมัยอดีต รวมถึงประสบการณ์ที่เกิดจากบิดารวมถึงพี่ชายที่ทำให้ทั้งสองท่านรอดชีวิตมาถึงทุกวันนี้ ทำให้หลวงปู่เอี่ยมวัดหนังเป็นพระเกจิอาจารย์ที่เคารพนับถือในหัวใจตลอดมา และวัตถุมงคลของท่านจะเป็นมรดกสืบต่อจนถึงลูกหลานตลอดไป

นิตยสารพระเครื่องล้ำค่า ปีที่ 9 ฉบับ 98 หน้า 30 หลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง บางขุนเทียน