แม็กกาซีนพระ บทความและสาระความรู้

สารทเดือนสิบ ประเพณีสืบต่อความกตัญญู
15 กันยายน 2563    1,924

ประเพณีสารทเดือนสิบ เป็นงานบุญประเพณี ที่ได้รับอิทธิพลด้านความเชื่อมาจากทางศาสนาพราหมณ์  เป็นประเพณีที่วิวัฒนาการมาจาก ประเพณี "เปตพลี” อันเป็นประเพณีที่จัดทำขึ้นเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ตาย ปฏิบัติต่อเนื่องมาในอินเดียก่อนสมัยพุทธกาล พระพุทธองค์เห็นว่าเป็นประเพณีที่ดีงามจึงอนุญาตให้พุทธบริษัทปฏิบัติสืบเนื่องมา ก่อเกิดประเพณีและพิธีกรรม เพื่อให้มีพิธีการปฏิบัติเป็นแบบ ยึดถือตามวัฒนธรรมของท้องถิ่น

ในประเพณีมีจุดมุ่งหมายสำคัญเพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว เชื่อว่าผู้ทำกรรมใดย่อมได้รับกรรมนั้น เมื่อบรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว ต้องเสวยกรรมอยู่ในนรก เป็นเปรตนั้น จะได้รับอนุญาตให้ขึ้นมาเยี่ยมลูกหลานญาติพี่น้อง ที่เมืองมนุษย์ในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10  และกลับ ในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 
เพื่อเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวที ลูกหลานจึงต้องหาอาหาร พืชพรรณ ธัญญาหาร มาทำบุญ อุทิศส่วนกุศล เพื่อให้บรรพบุรุษที่ล่วงลับ มารับส่วนบุญจากญาติพี่น้องที่ยังมีชีวิตอยู่ และญาติจะได้รับส่วนบุญได้เต็มที่ มีโอกาสหมดหนี้กรรม ได้ไปเกิด หรือมีความสุข

การทำบุญเดือนสิบในแต่ละท้องที่จะมีชื่อเรียกที่แตกต่างกัน แต่ก็มีจุดประสงค์เดียวกัน คือ เป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ โดยในภาคกลาง จะมีการ กวนกระยาสารท เพื่อนำไปตักบาตร ในภาคเหนือ มีชื่อเรียกว่า "ตานก๋วยสลาก" หรือ ทานสลากภัต เป็นต้น

สารทเดือนสิบ

ประเพณีวันสารทเดือนสิบของภาคใต้ 

จะแบ่งการทำบุญออกเป็นสองช่วงคือ ในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 เป็นวัน "รับเปรต" หรือ วันรับตายาย หรือ บุญแรก ลูกหลานต้องเตรียมขนม ไปทำบุญเพื่อมาเลี้ยงดูให้เปรต หรือ บรรพบุรุษ และ ในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 คือวัน "ส่งเปรต" กลับคืนเมือง เรียกกันว่า วันส่งตายาย หรือ บุญหลัง

โดยบุญหลังนี้ จะมีการจัดหมรับ (อ่านว่า หมับ แปลว่า สำรับ) การยกหมรับ และการชิงเปรต โดยการจัดหมรับ เป็นการจัดอาหารเป็นสำรับถวายพระภิกษุ โดยให้พระภิกษุจับสลากแล้วให้ศิษย์เก็บไว้ แล้วนำถวายพระภิกษุเป็นมื้อ ๆ การยกหมรับที่จัดเรียบร้อยแล้วไปวัด พร้อมทั้งภัตตาหารไปถวายพระภิกษุในช่วงเวลาเช้าก่อนเพล จะจัดเป็นขบวนแห่ใหญ่โต บางแห่งแต่งตัวเป็นเปรตเข้าร่วมไปในขบวนด้วย

ส่วนชิงเปรต หรือ ตั้งเปรต เป็นขั้นตอนสุดท้ายของการทำบุญ เมื่อนำอาหารไปถวายพระภิกษุแล้ว จะเอาอาหารอีกส่วน ไปจัดตั้งไว้ให้เปรต โดยวางรวมกันบนโต๊ะ หรือ ร้านขนาดใหญ่ (ชาวบ้านเรียก หลา หรือ ศาลา) บนลานวัด มีสายสิญจน์ล้อมรอบ อาหารที่จัดวางนั้นจะมีสิ่งที่ประกอบด้วยขนมสำคัญ ที่มีความหมายต่อการให้เปรต คือ 

-ขนมพอง หมายถึง แพสำหรับผู้ล่วงลับใช้ล่องข้ามห้วงมหรรณพ
-ขนมลา หมายถึง แพรพรรณเครื่องนุ่งห่ม
-ขนมกง หรือ ขนมไข่ปลา หมายถึง เครื่องประดับ
-ขนมดีซำ หรือ เจาะหู หมายถึง เงินเบี้ยไว้ใช้สอย 
-ขนมบ้า หมายถึง ลูกสะบ้าสำหรับเล่นรับสงกรานต์
-ขนมเทียน หมายถึง หมอนนอนหนุน

สารทเดือนสิบ

เมื่อพระภิกษุสวดบังสกุลแล้ว ชาวบ้านจะกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ล่วงลับ และจะมีการแย่งอาหารเรียกว่า “ชิงเปรต” บนร้านที่ตั้งเปรตไว้ อย่างสนุกสนาน อาหารที่แย่งมาได้นั้น แต่ละครอบครัวจะนำมากิน ถือว่าเป็นสิริมงคล 

ผู้เฒ่าผู้แก่ บอกว่า การชิงเปรต ไม่ใช่เรื่องอัปมงคลแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้าม ถือว่าเป็นการได้บุญ เพราะเชื่อกันว่าหากลูกหลานของเปรต ชิงได้ เปรตตนนั้นย่อมได้รับส่วนบุญส่วนกุศลนั้น


ข้อมูลจาก
m-culture.go.th
Wikipedia.org