แม็กกาซีนพระ บทความและสาระความรู้

พระพิมพ์สมเด็จพระครูธรรมานุกูล (หลวงปู่ภู) วัดอินทรวิหาร
31 มีนาคม 2563    2,538

พระพิมพ์สมเด็จพระครูธรรมานุกูล (หลวงปู่ภู) วัดอินทรวิหาร กทม.

หลวงปู่ภู วัดอินทรวิหาร เป็นที่รู้จักนับถือมานานของนักนิยมสะสมบูชาพระเครื่องทั่วเมืองไทย ด้วยรับรู้กันมาเนิ่นนานว่าท่านเป็นศิษย์เอก ที่ร่ำเรียนวิชามาจากสมเด็จพุฒาจารย์โต แห่งวัดระฆังฯ ทั้งยังได้รับการถ่ายทอดวิชาการลบผงทําผงศักดิ์สิทธิ์สร้างพระพิมพ์สมเด็จสืบทอด วิชาของสมเด็จฯ โต เอาไว้ได้อย่างเข้มขลัง มีชื่อเสียงในด้านพุทธคุณที่นับถือกันมานานว่า พระพิมพ์สมเด็จของหลวงปู่ภูบูชาแทนพระพิมพ์สมเด็จ ของพระอาจารย์ท่านได้เป็นอย่างดี และด้วยความนิยมศรัทธาทําให้หลายๆ พระพิมพ์ของท่านปัจจุบันมีราคาสูงเป็นที่ต้องการของศิษย์ที่นับถือตลอดมา

หลวงปู่ภู

หลวงปู่ภู เกิดที่บ้านวังหิน อําเภอเมือง จังหวัดตาก เมื่อปี พ.ศ.2375 เมื่ออายุได้ขวบ บิดามารดานําท่านไปบวชเป็นสามเณรที่วัดท่าแค และไม่เคยสึกเลย จนมีอายุครบบวชในปี พ.ศ.2395 จึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดแห่งนี้

หลังจากนั้นไม่นานด้วยความตั้งใจในการศึกษาหาความรู้ท่านได้เดินทางเข้ามาอยู่ที่เมืองหลวง โดยตามพระพี่ชายมาอยู่ที่ วัดสระเกศฯ และได้ย้ายมาอยู่ที่ วัดจักรวรรดิฯ (สามปลื้ม) ในเวลาต่อมา เมื่อท่านศึกษาจนเชี่ยวชาญมากขึ้นจึงได้เดินทางมาอยู่ที่วัดม่วงแค และ วัดโมลีโลกยาราม (ท้ายตลาด) ตามลําดับ แสดงถึงความหมั่นเพียรศึกษาหาความรู้ของหลวงปู่ภู จนสุดท้ายท่านได้มาอยู่ที่วัดอินทรวิหาร

กล่าวกันว่า หลวงปู่ภู น่าจะมาอยู่วัดนี้โดยการชักชวนของ สมเด็จพระพุฒาจารย์โต ด้วยหลวงปู่ภูได้ไปฝากตัวกับสมเด็จโตฯ เพื่อศึกษาเล่าเรียนเพิ่มเติมที่ วัดระฆัง และได้อยู่รับใช้ใกล้ชิดจนเรียกได้ว่าเป็นศิษย์เอกที่สมเด็จโตไว้ใจเป็นที่สุด ทั้งยังได้ร่วมธุดงค์ไปกับสมเด็จโตหลายๆ แห่ง

เมื่อสมเด็จโตฯ ท่านตั้งใจจะสร้างพระยืนองค์ใหญ่ที่วัดอินทรวิหาร (ชื่อเดิมวัดอินทาราม) หลวงปู่ภู ท่านจึงได้ตามมาอยู่ช่วยพระอาจารย์ จนเมื่อยังสร้างพระยืนองค์ใหญ่ไม่เสร็จสิ้นดี สมเด็จโตฯ ท่านได้มรณภาพเสียก่อนในปี พ.ศ.2415 หลวงปู่ภู ท่านจึงสร้างต่อจากพระอาจารย์ของท่าน จนสําเร็จลุล่วงด้วยดี และได้อยู่ที่วัดแห่งนี้จนได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสในปี พ.ศ.2435 และได้รับสมณศักดิ์เป็น “พระครูธรรมานุกูล” ในเวลาต่อมา 

ซึ่งท่านยังได้สร้างบูรณะวัดอินทรวิหารจนเจริญรุ่งเรือง ในยุคที่ท่านปกครองวัด นับว่ามีศิษย์ที่นับถือหลวงปู่เป็นจํานวนมาก ด้วยความเชี่ยวชาญในวิชาอาคมช่วยเหลือชาวบ้านที่เดินทางมาให้หลวงปู่เมตตาสงเคราะห์ในเรื่องต่างๆ เรียกได้ว่าในสมัยที่ท่านยังอยู่เป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงอันดับต้นๆ ในเมืองหลวง ทั้งยังมีความสนิทสนมกับพระคณาจารย์ร่วมยุคสมัยหลายๆ รูป เช่น ท่านเจ้ามา วัดสามปลื้ม หลวงปู่ไข่ วัดเชิงเลน หลวงพ่อเงิน วัดท้ายตลาด ฯลฯ 

หลวงปู่ภูท่านเป็นพระที่มีร่างกายแข็งแรงมีอายุยืน จนถึงวันที่ 5 พฤษภาคม ปี พ.ศ.2476 ท่านได้มรณภาพอย่างสงบด้วยโรคชราที่วัดอินทรวิหาร สิริอายุรวม 103 ปีนับว่าหลวงปู่ เป็นพระที่มีอายุยืนยาวเกิน หนึ่งร้อยปีเลยทีเดียว


สมัยที่หลวงปู่ภูอยู่รับใช้พระอาจารย์คือสมเด็จโต ได้มีส่วนรู้เห็นและได้รับถ่ายทอดวิชาการสร้างพระพิมพ์สมเด็จ และได้เรียนการลบผง สร้างผงพุทธคุณที่นํามาสร้างพระสมเด็จ แต่ด้วยความที่ท่านได้รับมอบหมายจากสมเด็จโตให้สร้างพระยืนองค์ใหญ่ต่อจากสมเด็จที่ได้มรณภาพไปแล้ว ท่านจึงมิได้สร้างพระเครื่องของท่าน มีเพียงเครื่องรางของขลังบางชนิดที่ทําให้ศิษย์ใกล้ชิดไว้คุ้มครองตัว เช่น ตระกรุดไม้เท้าพ่อครู ผ้ายันต์ ฯลฯ จนเมื่อหลวงพ่อสร้างพระยืนองค์ใหญ่เสร็จ ท่านจึงมีดําริห์สร้าง พระผงพิมพ์สมเด็จ แจกศิษย์ที่มาร่วมช่วยสร้างพระยืน ทั้งทางแรงกาย และแรงเงิน

พระสมเด็จพิมพ์แซยิดแขนหักศอก
สันนิษฐานว่าหลวงปู่สร้างพระพิมพ์ประมาณปี พ.ศ.2450 เรื่อยๆ มาโดยเป็นการสร้างหลายครั้งและมีหลากหลายแบบพิมพ์ ซึ่งพิมพ์ที่เป็นเอกลักษณ์และได้รับความนิยมในปัจจุบันได้แก่ พระสมเด็จพิมพ์แซยิดแขนหักศอกและแขนกลม, พระสมเด็จพิมพ์แปดชั้นแขนหักศอก, พระสมเด็จพิมพ์แปดชั้นแขนกลม, พระสมเด็จพิมพ์เจ็ดชั้นหยิ่ง, พระสมเด็จพิมพ์ฐานคู่, พระสมเด็จพิมพ์ฐานสามชั้น, พระสมเด็จพิมพ์เจดีย์, พระพิมพ์ยืนอุ้มบาตร, พระพิมพ์ปิดตา, พระพิมพ์สังกัจจายน์, พระพิมพ์ยืนลีลา, พระพิมพ์นั่งห้าเหลี่ยม ฯลฯ

ในขั้นตอนการสร้างเมื่อท่านสร้างผงพุทธคุณไว้ได้พอตามต้องการ จะให้ศิษย์ช่วยกันตําผงผสมมวลสารสําคัญหลายๆ ชนิดตามสูตรของสมเด็จโตที่ท่านได้ร่ำเรียนมา จนถึงการกดพิมพ์พระตากให้แห้งและนํามาปลุกเสกเดี่ยว ด้วยตัวท่านเองจนมั่นใจแล้วจึงแจกให้ศิษย์ที่เดินทางมาขอไปบูชาคุ้มครองติดตัว ซึ่งได้สร้างอภินิหารความศักดิ์สิทธิ์ จนเป็นที่กล่าวขานไม่เพียงพอต่อความต้องการจนหลวงปู่ท่านต้องสร้างหลายๆ ครั้งหลายๆ พิมพ์เป็นที่นิยมในปัจจุบันนี้

สําหรับการพิจารณาพระพิมพ์ของหลวงปู่ภู ที่ต้องเน้นคือพิมพ์ทรงขององค์พระหลายๆ พิมพ์ที่เป็นพิมพ์นิยมช่างที่แกะบล็อกแม่พิมพ์ นับว่าเป็นช่างที่มีฝีมือเส้นลายละเอียดชัดเจน ฐานองค์พระจะเป็นเส้นเล็กแหลมคมเปรียบดังเข็มแหลมๆ ได้เลยทีเดียว ในด้านเนื้อพระ ถ้าองค์ที่ไม่ผ่านการสัมผัสบูชาผิวจะขาวนวลดูสวยงาม แต่ต้องมีอายุความเก่าความแห้งตัวที่ผ่านระยะเวลามาเป็นร้อยปี มวลสารในเนื้อองค์พระ คือจุดที่ควรจดจําและสังเกตุเห็นได้ ด้วยเหตุที่ท่านทําหลายๆ แบบพิมพ์หลายๆ ครั้งควรจะสะสมบูชาในพิมพ์ที่เป็นมาตราฐานได้รับการยอมรับ ว่าท่านได้สร้างเอาไว้จะเป็นการดี

ฉบับ 144-พระพิมพ์ หลวงปู่ภู

พระพิมพ์ของหลวงปู่ภู นับเป็นของดีเป็นพระเครื่องล้ำค่าที่ควรบูชาสะสมเป็นยิ่งนัก ด้วยชื่อเสียงเป็นที่เชื่อถือในด้านพุทธคุณเน้นในเรื่องเมตตา ค้าขาย มีความเจริญรุ่งเรืองในหน้าที่การงาน ทั้งยังดีทางด้านแคล้วคลาด คงกระพันชาตรี เป็นหนึ่งในพระพิมพ์ที่สืบทอดตํารามาจากสมเด็จพระพุฒาจารย์โต ที่บูชาได้อย่างสนิทใจ ทั้งหลวงปู่ภู ท่านยังเป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีวิชาอาคมขลังมากที่สุดองค์หนึ่งในอดีตมีเรื่องราวในความศักดิ์สิทธิ์อย่างน่ามหัศจรรย์ ประสบการณ์ในพระเครื่องก็เด่นชัดเป็นที่เชื่อถือได้รับความนิยมมาอย่างยาวนานจนถึงปัจจุบันนี้