แม็กกาซีนพระ บทความและสาระความรู้

ราหูอมจันทร์ หลวงพ่อน้อย วัดศรีษะทอง
16 เมษายน 2563    3,544

ราหูอมจันทร์ หลวงพ่อน้อย วัดศรีษะทอง จ.นครปฐม

โดย ศาล มรดกไทย

 

กะลาแกะรูปราหูอมจันทร์ของหลวงพ่อน้อยแห่ง วัดศรีษะทองเป็นอีกหนึ่งเครื่องรางที่ได้รับการยกย่อง ถูกจัดให้อยู่ในชุดเบญจภาคี ประเภทเครื่องรางของขลัง ด้วยเหตุที่ได้รับการยอมรับว่ามีพุทธคุณสูงส่งในหลายๆ ด้าน ทั้งกันและแก้สิ่งชั่วร้าย กันและแก้ยามที่ผู้บูชามีดวงชะตาตกหรือดวงไม่ดี ทั้งยังดีทางด้านเมตตามหานิยมติดต่อการงานกับผู้หลักผู้ใหญ่ แคล้วคลาดและคงกระพันชาตรี ด้วยมีพุทธคุณสูงส่งมากมายขนาดนี้และที่เล่าขานต่อๆ กันมาตั้งแต่ในอดีตว่าเด็ดมากๆ ทางด้านทําน้ำมนต์หนุนดวงชะตาสําหรับผู้ที่ดีอยู่แล้วให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป ทําให้เป็นหนึ่งในสุดยอดเครื่องรางที่ทุกๆ คนใฝ่หา



ประวัติหลวงพ่อน้อย และการสร้าง ราหูอมจันทร์

หลวงพ่อน้อยท่านเป็นชาวไทยมีเชื้อสายชาวลาวตั้งแต่บรรพบุรุษเกิด พ.ศ.2435 ที่อําเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ตั้งแต่ท่านอายุยังน้อยท่านได้ศึกษาวิชาอาคมและทางด้านสมุนไพรรักษาโรคต่างๆ จากบิดาของท่านซึ่งเป็นพ่อหมอประจําหมู่บ้าน หลังจากอายุครบบวชท่านได้อุปสมบทที่วัดแค โดยมีหลวงพ่อยิ้วเป็นพระอุปัชฌาย์ หลังจากนั้นท่านได้ร่ำเรียนวิชาจากพระเกจิอาจารย์หลายๆ องค์ และได้มาอยู่วัดศรีษะทองจนเป็นเจ้าอาวาส และได้สร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับวัดเป็นอย่างยิ่ง จนท่านมรณะภาพเมื่อปี พ.ศ.2488 ที่วัดศรีษะทอง

สําหรับการสร้างราหูอมจันทร์ท่านสร้างตามตําราเก่าแก่ที่ได้รับตกทอดมาจากเจ้าอาวาสองค์ก่อนๆ ซึ่งเป็นวิชาและใช้อักขระจากทางฝั่งลาวซึ่งตามตําราต้องสร้างจากกะลาตาเดียวหรือที่ไม่มีตาคือกะลามหาอุดเท่านั้น โดยการสร้างจะมีทั้งที่เป็นทั้งลูกและแบบที่แกะขนาดเล็กไว้บูชาติดตัวจากการสัณนิฐาน ท่านน่าจะสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ.2460 กว่าๆ จนถึงปีที่ท่านมรณะภาพ


การพิจารณากะลาแกะของแท้

ในที่นี้จะกล่าวถึงกะลาแกะขนาดบูชาติดตัวเท่านั้น ซึ่งจํานวนการสร้างไม่แน่นอนโดยท่านได้สร้างทุกปีแต่ว่ากันว่าสร้างได้เพียงปีละสองสามครั้งเท่านั้น เพราะต้องจารยันตร์สําคัญตอนที่เกิดสุริยุปราคา และ จันทรุปราคา ทําให้ตลอดชีวิตหลวงพ่อมีกะลาแกะราหูอมจันทร์จํานวนน้อยและปัจจุบันหาได้ยากมาก ลักษณะการแกะแบ่งได้เป็นช่างประจําวัดและช่างชาวบ้านที่แกะแล้วนํามาให้ท่านปลุกเสก ซึ่งส่วนมากของแท้ๆ ที่พบเจอมักแกะได้ลึกมีมิติสวยงาม โดยแกะด้วยปลายมีดอย่างตั้งใจ สําหรับอักขระด้านหลังต้องศึกษารอยจารให้ดีเพราะท่านมิได้จารเพียงองค์เดียว แต่มีผู้ช่วยอีกสามสี่คนช่วยท่านจารและส่วนมากรอยจารจะต้องชัดเจนอ่านอักขระได้ดีไม่มีการจารแบบมั่วๆ แน่นอน ด้านเนื้อหาของกะลาต้องเก่าเหี่ยวย่นเป็นธรรมชาติคงต้องค่อยๆ ศึกษาระหว่างกะลาที่ยังไม่ได้ใช้ กับแบบที่ใช้แล้วว่าแตกต่างกันอย่างไรซึ่งคงต้องปรึกษาผู้ที่เชี่ยวชาญทางนี้อีกที

ปัจจุบันกะลาแกะของหลวงพ่อน้อยยังคงได้รับความนิยมชิ้นที่เก่าถึงยุคหลวงพ่อมีราคาสูงน่าดู และยังเป็นเครื่องรางของขลังที่เซียนพระยุคเก่าในอดีตจนถึงปัจจุบันเชื่อถือทางด้านพุทธคุณว่าโดดเด่นสมกับเป็นสุดยอดเครื่องรางนั่นเอง

ฉบับ 80 ราหูอมจันทร์ หลวงพ่อน้อย วัดศรีษะทอง

พระเครื่องล้ำค่า ปีที่ 7 ฉบับ 80 เมษายน 2552 หน้า 26