แม็กกาซีนพระ บทความและสาระความรู้

ปลัดขิก หลวงพ่อเหลือ วัดสาวชะโงก เครื่องรางของขลังของเมืองไทย ด้วยชื่อเสียงในด้านเมตตามหานิยม เป็นเสน่ห์อย่างแรงแก่ผู้ที่พกพา
20 เมษายน 2563    21,518

ปลัดขิก หลวงพ่อเหลือ วัดสาวชะโงก จังหวัดฉะเชิงเทรา

โดย ศาล มรดกไทย

คํากลอนที่เซียนเครื่องรางรุ่นเก่ายกย่องไว้ว่า “ปลัดพ่อเหลือ เสือพ่อปาน หนุมานพ่อสุ่น ฯลฯ” ย่อมเป็นที่เชื่อถือได้ในความโด่งดังของ ปลัดขิก หลวงพ่อเหลือ วัดสาวชะโงก ซึ่งในอดีตยังถูกจัดอยู่ในเบญจภาคีประเภทเครื่องรางของขลังของเมืองไทย ด้วยชื่อเสียงในด้านเมตตามหานิยม เป็นเสน่ห์อย่างแรงแก่ผู้ที่พกพา ทั้งยังดีมากทางด้านค้าขาย แคล้วคลาด คงกระพัน ป้องกันภูติผีปีศาจและกันได้แม้กระทั่งคมเขี้ยวจากสัตว์ร้าย เหตุที่มีพุทธคุณครบถ้วนแบบนี้จึงเป็นที่ต้องการเสาะหามาเนิ่นนาน ทําให้ปัจจุบันปลัดพ่อเหลือแท้ๆ มีสนนราคาสูงสมกับเป็นปลัดขิกอันดับหนึ่งของเมืองไทย


ประวัติหลวงพ่อเหลือ วัดสาวชะโงก

ตามประวัติที่ได้มีการบันทึกไว้ ท่านเป็นชาวจังหวัดฉะเชิงเทรา เกิดที่ตําบลบางเล่า อําเภอบางคล้า เมื่อปี พ.ศ.2406 จนเมื่อมีอายุครบบวชได้อุปสมบทที่วัดสาวชะโงกมีหลวงพ่อคง วัดใหม่บางคล้า เป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงพ่อขริก วัดสาวชะโงก เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับฉายาว่า “อินทสโร” หลังจากบวชแล้วได้อยู่ที่วัดสาวชะโงกมาตลอดและได้ศึกษาวิชาทั้งแพทย์แผนโบราณ วิชาอาคมหลายๆ ชนิด รวมถึงวิชาการสร้างปลัดขิกจากหลวงพ่อขริกอาจารย์ของท่าน (หลวงพ่อขริกนับเป็นพระอาจารย์องค์แรกๆ ของเมืองไทยที่สร้างปลัดขิกแจกลูกศิษย์แต่หาของแท้ตัวจริงได้ยากมาก)

ด้วยความที่หลวงพ่อเหลือมีใจชื่นชอบในการศึกษาวิชา ท่านยังเคยเดินทางไปเรียนเพิ่มเติมวิชาทางเมตตามหานิยมจากหลวงปู่จีน วัดท่าลาดเหนือ และวิชาคงกระพันจากหลวงพ่อดํา วัดกุฏิฯ ที่ปราจีนบุรี ที่สําคัญด้วยความที่ท่านชอบเดินธุดงค์ จึงได้ไปขอเรียนวิชาและร่วมเดินธุดงค์กับ หลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ย จนกระทั่งหลวงพ่อเหลือท่านเป็นสหธรรมิกที่สนิทกับหลวงพ่อนก วัดสังกะสี ศิษย์เอกของหลวงพ่อปาน (ได้มีการแลกเปลี่ยนวิชาอาคมซึ่งกันและกัน)

หลวงพ่อเหลือท่านเดินทางกลับวัดและเป็นเจ้าอาวาสต่อจากหลวงพ่อขริกในปีใดไม่ปรากฏหลักฐาน ทราบเพียงว่าในปี พ.ศ.2474 เป็นพระอุปัชฌาย์ ปีพ.ศ. 2477 เป็นพระครูชั้นประทวน จนถึงปี พ.ศ.2481 ได้รับสมณศักดิ์เป็นพระครูนันทธีราจารย์ ตลอดเวลาที่ท่านครองวัดได้สร้างความรุ่งเรืองให้กับวัดสาวชะโงกและวัดใกล้เคียง ทั้งยังเป็นที่พึ่งให้กับลูกศิษย์ชาวบ้านที่เดินทางมากราบไหว้ให้หลวงพ่อช่วยในเรื่องต่างๆ

เล่าขานกันว่าหลวงพ่อเหลือท่านมีวิชาอาคมที่สูงมากเพราะท่านเชี่ยวชาญในทุกๆ แขนงวิชาโดยเฉพาะปลัดขิกของท่านดังตั้งแต่สมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ในปีที่เมืองไทยเข้าสู่สงครามอินโดจีนวัตถุมงคลของท่านเช่น เสื้อยันต์ยังสร้างชื่อเป็นที่กล่าวขานมาจนถึงทุกวันนี้ หลวงพ่อเหลือท่านมรณภาพในปีใดไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่ชัด สันนิษฐานว่าน่าจะหลังปี พ.ศ.2485 ขึ้นมา

ปลัดขิกหลวงพ่อเหลือวัดสาวชะโงก

ปลัดขิกและการพิจารณา

หลวงพ่อเหลือท่านสร้างปลัดขิกแจกลูกศิษย์ตั้งแต่เมื่อใดไม่เป็นที่แน่ชัด น่าจะหลังจากเป็นเจ้าอาวาสวัดสาวชะโงกแล้ว โดยสร้างสืบต่อจากหลวงพ่อขริกอาจารย์ของท่านในยุคแรกๆ หลวงพ่อจะจารยันต์เองทั้งหมดและมักจะเป็นทรงตรงๆ (แบบหัวตรงธรรมดาและแบบหัวกระจ่า หรือหัวจิ้งจก) มีขนาดตั้งแต่ยาวหนึ่งนิ้วจนถึงขนาดใหญ่ห้าถึงหกนิ้วก็มี และมักจะสร้างจากไม้คุณตายพราย (เป็นไม้อาถรรพ์ชนิดหนึ่ง) ไม้พุฒหรือไม่รัก ยังพบที่ทําจากงาและเขาควายเผือกแต่จะหาได้ยากมาก

หลังจากยุคปลายๆ มีลูกศิษย์คือพระอาจารย์คงที่ท่านได้มอบหมายให้จารยันต์แทน ด้วยมีประชาชนเดินทางมาขอปลัดกับท่านจํานวนมากจนสร้างไม่ทันและได้จ้างช่างแกะเป็นทรงงอๆ ก้นลูกแก้ว (ก้นเป็นตุ่มกลม) ทําจากไม้คูณเช่นกันและมีงาเป็นส่วนประกอบบ้างบางชิ้น

การพิจารณาต้องสังเกตความแห้งเก่าของไม้หรือวัตถุที่นํามาสร้างเป็นสําคัญ สําหรับลายมือของหลวงพ่อเหลือท่านมักจะจารยันต์เป็นตัวเหลี่ยมๆ เส้นเล็กๆ หรือที่เรียกว่าคล้ายตัวหนังสือภาษาจีน ด้านปลายมักจารยันต์ตัวอุ (เป็นตัวคล้ายเลขสามหรือตัวเอ็มในภาษาอังกฤษ) มีทั้งแบบอุเดียวจนมีถึงเก้าอุก็เคยพบเจอ

สําหรับลูกศิษย์หลวงพ่ออาจารย์คงท่านจะจารยันต์ตัวใหญ่ตรงปลายหัวจะเป็นตัวอุตัวใหญ่ ต้องจดจําลายมือให้แม่นยําเช่นกัน สําหรับยันต์ที่หลวงพ่อเหลือใช้จารส่วนมากใช้ยันต์ที่เป็นวิชาในการสร้างปลัดขิกคือ “อิติกะริ อิติกะตา, อุมะ อุมิ, กัณหะ เนหะ” ซึ่งใช้เป็นคาถากํากับเวลาใช้ปลัดของหลวงพ่อเหลือเวลาพกติดตัวได้เป็นอย่างดี

ปลัดขิกของหลวงพ่อเหลือดังมานานทางด้านพุทธคุณเป็นหนึ่งในเครื่องรางที่นักนิยมสะสมจะขาดมิได้เลย ด้วยวิชาของท่านที่มีครบถ้วนในทุกๆ ทาง โดยเฉพาะปลัดของท่านช่วยให้ลูกศิษย์สมหวังในด้านเมตตามหานิยมและเรื่องความรักสมหวังมาแล้วหลายๆ ราย ทั้งยังเป็นเครื่องรางที่บูชาติดตัวง่ายลุยไหนลุยกันไปได้ทุกที่น่ามีไว้พกพาติดตัวจริงๆ ครับ

 

เอื้อเฟื้อภาพโดย อาจารย์เพชร ท่าพระจันทร์, คุณแจ้ เสนา, คุณเติ้ง รักษ์ศิลป, คุณมล เชือกคาด

 

นิตยสาร พระเครื่องล้ำค่า ปีที่ 9 ฉบับ 100 ธันวาคม 2553 หน้า 30